แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดและผลประกอบการของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง โดยทริสเรทติ้งจะติดตามสถานะทางการตลาดและผลประกอบการของบริษัทอย่างใกล้ชิดหลังจากระบบค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แบบขั้นบันไดมีผลบังคับใช้ในปี 2553 ทั้งนี้ ผลประกอบการที่ลดต่ำลงจะเป็นผลลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทว่าความสำเร็จในการประกอบธุรกิจวางแผนทางการเงินซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักและสถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นและมั่นคงจะช่วยส่งเสริมอันดับเครดิต อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงฐานะการเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของกลุ่มธนาคารดีบีเอส อีกทั้งจะยังมีบทบาทในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับสากลของกลุ่มธนาคารดีบีเอส และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลักโดยมีธุรกิจอื่นๆ สนับสนุน ได้แก่ ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วน 2.9% ในปี 2548 2.8% ในปี 2549 และปี 2550 และลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2551 ด้วยสัดส่วน 2.1% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีระบบการซื้อขายแบบ Direct Market Access (DMA) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บริษัทจะสามารถให้บริการในระบบ DMA ได้ภายในปี 2551 แต่ปริมาณการซื้อขายจากต่างประเทศยังคงลดลงเนื่องจากภาวะวิกฤติทางการเงินทั่วโลก โดยบริษัทมีปริมาณการซื้อขายจากต่างประเทศในสัดส่วน 40%-50% ของปริมาณการซื้อขายรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจดังกล่าวปรับตัวลดลงเหลือ 1.9% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2552 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 22 จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 38 ราย ลดลงจากอันดับที่ 15 เมื่อปี 2550 อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมปริมาณการซื้อขายในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์แล้ว ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทจะอยู่ที่ 2.2% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงจาก 2.4% ในปี 2551 และ 3.0% ในปี 2550
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสและปริมาณเงินลงทุนหมุนเวียนที่เกิดจากการอัดฉีดสภาพคล่องจากรัฐบาล สหรัฐอเมริกาและยุโรปทำให้มีแนวโน้มว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้จากลูกค้าต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังมีกลยุทธ์จะขยายฐานลูกค้ารายย่อยโดยการพัฒนาการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงการให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย และการดำเนินนโยบายขยายสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อยในประเทศยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากนโยบายการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์แบบขั้นบันไดจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2553 ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจนั้น บริษัทมีเป้าหมายเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดกลาง ในปี 2551 บริษัทเป็นผู้รับประกันหลักในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ให้แก่ บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 840 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากเพียง 74 ล้านบาทในปี 2550 อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมทุกประเภทในครึ่งแรกของปี 2552 เนื่องจากธุรกิจ วาณิชธนกิจค่อนข้างอิงกับภาวะของตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจึงได้ขยายทักษะความเชี่ยวชาญให้ครอบคลุมถึงงานให้คำปรึกษาในส่วนอื่นด้วย เช่น การควบรวมกิจการ และการให้คำปรึกษาทางการเงินอื่นๆ ผ่านแหล่งทรัพยากรของเครือข่ายสาขานานาประเทศภายในกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม รายได้ในส่วนนี้มีเพียง 4% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทไม่ได้คาดหวังรายได้ที่สูงจากธุรกิจวาณิชธนกิจ
กำไรสุทธิของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 209 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 172 ล้านบาทในปี 2549 และเป็น 132 ล้านบาทในปี 2550 เนื่องจากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ในปี 2551 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 22 ล้านบาทเนื่องจากประสบผลขาดทุนจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2552 โดยบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 9 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2552 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทมีโอกาสที่จะมีกำไรในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เนื่องจากปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ที่ฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 โดยมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ประมาณ 21,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณ 8,600 ล้านบาทต่อวันในไตรมาสแรกของปี 2552
บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ระหว่าง 1.6-1.9 พันล้านบาทในช่วงปี 2548-2551 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.31 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์รวมที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ในระดับ 500 ล้านบาท ซึ่งคงที่มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 จนถึงเดือนมิถุนายน 2552 เนื่องจากนโยบายการให้สินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น โดยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วน 31.3% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2551 และ 22.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายจะขยายสินเชื่อดังกล่าวอีกครั้งเมื่อมีโอกาสโดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอส ซึ่งคาดว่าการคงนโยบายการขยายสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจะสามารถเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดในส่วนของนักลงทุนรายย่อยในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม การขยายสินเชื่อดังกล่าวอาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงทางเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อจำนวนมากให้แก่ลูกค้าน้อยราย กระนั้น ตามยอดคงค้างสินเชื่อ ณ ปัจจุบัน บริษัทยังมีทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่อาจเกิดจากการทำธุรกรรมหลักทรัพย์ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2552 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule) อยู่ที่ 49.56% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทมีความเสี่ยงจากการลงทุนในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย โดยมีเพียงการลงทุนสมทบในหุ้นสามัญจำนวน 14 ล้านบาทเพื่อการจัดตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนที่บังคับสำหรับสถาบันการเงินทุกแห่งเท่านั้น โดยบริษัทได้บันทึกการด้อยค่าเต็มจำนวนจากการลงทุนดังกล่าวในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 บริษัทยังคงมีสถานะสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอและมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งแม้จะมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินหลายแห่งรวมถึงกลุ่มธนาคารดีบีเอสเพื่อนำไปสนับสนุนการขยายสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผ่านมาก็ตาม ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 บริษัทใช้วงเงินกู้ไปประมาณ 3.0% จากวงเงินทั้งสิ้น 2.3 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินต่างๆ และยังมีเงินกู้ด้อยสิทธิมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาทจากกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทแม่ได้อย่างทันเวลาในยามจำเป็น นอกจากนี้ ฐานทุนของบริษัทยังคงมีเพียงพอถึงแม้จะลดลงจาก 1,273 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 เหลือ 964 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เนื่องจากบริษัทจ่ายเงินปันผลพิเศษไปจำนวน 277 ล้านบาทและมีผลขาดทุนสุทธิในช่วงที่ผ่านมา
บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSVT)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative จาก Stable