โดยด้านการลงทุนในปี 2553 ได้มีการปรับนโยบายบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปีหน้า โดยยังคงระมัดระวังในการป้องกันผลขาดทุนของกองทุนอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ได้มีการเริ่มวางกลยุทธ์เตรียมพร้อมรอจังหวะการลงทุนหากมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย เศรษฐกิจโลก และทิศทางราคาพลังงาน นอกจากนี้ ยังได้มีโปรแกรมการบริหารความเสี่ยงมารองรับ อาทิ โปรแกรม Risk Manager เพื่อประเมินติดตามความเสี่ยงการลงทุนในรายหลักทรัพย์ขึ้นไปจนถึงทั้งกองทุน รวมถึงทดสอบผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น โดยจำลองสถานการณ์วิกฤติการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐมิติเพื่อสร้างเครื่องมือเตือนภัยและช่วยให้สามารถหามาตรการแก้ไขได้ทันท่วงที
สำหรับแผนด้านบริหารความเสี่ยงองค์กร จะได้เพิ่มการให้ความสำคัญในการติดตามปัจจัยความไม่แน่นอนที่เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสมากขึ้น โดยจัดให้มีระบบเตือนภัยเกี่ยวกับ ความเสี่ยงต่างๆ (KRI — Key Risk Indicator) ทั้งในระดับองค์กรและระดับปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการตอบสนองต่อความเสี่ยงได้ดีขึ้น โดยมีการรายงานอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กบข. ยังได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงที่ประกอบด้วยคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย เป็นที่ปรึกษาในการบริหารความเสี่ยงทั้งด้านการลงทุนและงานด้านอื่นๆ ทั้งในเชิงวิชาการและภาคปฏิบัติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกว่า กบข. มีการดำเนินงานอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 [email protected] / www.gpf.or.th