นางสาววริยา ว่องปรีชา รองเลขาธิการสายบริหารงานสมาชิก รักษาการ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าจากการรวบรวมวิเคราะห์ข้อสอบถามจากสมาชิกที่ผ่านมา พบว่ามีการสอบถามความเป็นไปได้เกี่ยวกับประเด็นการขอโอนหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิผู้รับเงินคืนจาก กบข. แต่เนื่องจากตามหลักเกณฑ์พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 มาตรา 61 บัญญัติว่า “สิทธิการรับเงินต่างๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนแก่กันได้” ดังนั้นเมื่อสมาชิกพ้นสมาชิกภาพและยื่นเรื่องขอรับเงินคืนจาก กบข. จึงจำเป็นต้องจ่ายเงินคืนสมาชิกโดยตรง ไม่สามารถโอนหรือนำไปหักชำระหนี้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ เว้นแต่ในกรณีที่สมาชิกเสียชีวิต สิทธิในการรับเงินคืนจาก กบข. นั้นจะจ่ายคืนให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป
ส่วนกรณีที่มีสมาชิก กบข.บางท่านต้องการแสดงเจตนาระบุผู้รับประโยชน์ไว้เป็นการล่วงหน้า เผื่อกรณีที่ตนเองชีวิตนั้น ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ตามมาตรา 59 ได้กำหนดไว้ว่าในกรณีที่สมาชิกผู้ถึงแก่ความตายได้ส่งเงินสะสมเข้ากองทุน ให้ กบข.จ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวแก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของสมาชิกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนี้ เงิน กบข. ถือเป็นสินสมรสด้วย ดังนั้น คู่สมรสจะได้รับเงินครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนเงินอีกครึ่งที่เหลือ ทายาทโดยธรรมไม่ว่าจะเป็น บุตร บิดามารดา พี่น้อง และญาติ จึงจะมีสิทธิได้รับต่อไปตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม สมาชิก กบข. สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และเงินต่างๆ ที่สมาชิกจะได้รับเมื่อพ้นสมาชิกภาพในแต่ละกรณี อาทิ การลาออก ปลดออก เสียชีวิต การโอนย้ายหน่วยงาน หรือเกษียณอายุราชการ ได้จากเว็บไซต์ กบข. ที่ www.gpf.or.th เมนูข้อมูลสมาชิก
ทั้งนี้ สมาชิกยังสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหตุและสิทธิเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 ในวันและเวลาทำการ
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 [email protected] / www.gpf.or.th