จากสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนอย่างมาก ส่งผลให้มีผู้ประกอบการไบโอดีเซลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งที่ประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์ , ผลิตเพื่อใช้เองภายในอุตสาหกรรม หรือผลิตเพื่อจำหน่ายในชุมชน ทำให้ภาครัฐต้องกำหนดนโยบายและแนวทางในการนำน้ำมันไบโอดีเซลมาใช้ในประเทศ รวมถึงการให้การสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนดังกล่าว ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จึงได้จัดตั้งโครงการการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันไบโอดีเซลอย่างมีคุณภาพและครบวงจร เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไบโอดีเซลไทยมีศักยภาพในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ล่าสุดโครงการ ITAP ได้นำคณะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและสกัดน้ำมันปาล์ม เข้าร่วมกิจกรรม “เสาะหาและยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและสกัดน้ำมัน ณ ประเทศเยอรมนี” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสในการเห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ และพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ รวมถึงนักวิจัยจากสถาบันวิจัย และเข้าชมงาน Oils & Fats 2009 โดยมีบริษัทเอกชนของไทยที่ร่วมเดินทางครั้งนี้กว่า 12 บริษัท พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของไทย
นางสาวภาวิณี อนุสรณ์เสรี ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ iTAP กล่าวว่า การเดินทางไปเยอรมนีครั้งนี้ ทาง iTAPได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมโรงงาน eco Motion ซึ่งผลิตไบโอดีเซลจากไขมันสัตว์และ Rapeseed ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุมกระบวนการผลิตทั้งหมด ,โรงงาน Emery Oleochemical ผลิตกรดไขมันและ กลีเซอรีนบริสุทธิ์จากน้ำมันปาล์ม, บริษัท Lanxess ซึ่งมีเทคโนโลยีการทำความสะอาดไบโอดีเซลโดยใช้ resin และบริษัท Lurgi ซึ่งทำ Process Engineering โดยมุ่งเน้นงานทั้งด้านพลังงานและโอลีโอเคมีคอล นอกจากนั้นยังเข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัย Fruanhofer Institute (UMSICHT) ซึ่งมีงานวิจัยที่เน้นทางด้าน Biofuel และเข้าชมงาน Oils & Fats 2009 นับเป็นงานรวมตัวของผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันและการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรป
“กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการ iTAP นอกจากการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจัดฝึกอบรมเชิงเทคนิค การจัดสัมมนาเชิงวิชาการแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมการเสาะหาเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย นับเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำความรู้ใหม่ๆ และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้และต่อยอดกับการประกอบธุรกิจ รวมทั้งสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการที่ร่วมเดินทางกันเอง ที่สำคัญยังเป็นการผลักดันให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาโดยอาศัยพื้นฐานเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไทยต่อไป ”
ด้าน นาวาเอก ดร.สมัย ใจอินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพ กรมอู่ทหารเรือ และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานชีวภาพของศูนย์ MTEC (สวทช.) กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตพลังงานทางเลือกใหม่ๆของยุโรปนั้นถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด โดยเฉพาะประเทศเยอรมนีซึ่งถือเป็นหัวใจของยุโรป เพราะมีการพัฒนามานานกว่า 150 ปี จึงเหมาะอย่างยิ่งในการนำคณะผู้ประกอบการไทยไปศึกษาเรียนรู้ถึงวิธีการพัฒนาอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ
“ การเดินทางไปครั้งถือว่าได้ประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่ใครจะเข้าไปได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเอกชนเป็นเรื่องยากมากที่จะมีโอกาสเข้าไปศึกษาดูงานในลักษณะดังกล่าว เพราะถือเป็นความลับทางการค้า แต่การไปในนามของโครงการ iTAP (สวทช.) ทำให้เราได้รับโอกาสดีๆ เช่นนี้ ต้องขอบคุณโครงการ iTAP ที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้น และหอการค้าเยอรมัน-ไทยที่ช่วยประสานในการเดินทางไปดูงานในครั้งนี้ ”
สำหรับผลที่ได้รับจากการเดินทางไปเยอรมนีครั้งนี้ ดร.สมัย กล่าวว่า ได้เห็นถึงเทคโนโลยีขั้นก้าวหน้าของเยอรมนีไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ กระบวนการผลิต(process) และเทคโนโลยีที่ไปไกลมาก และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทนของไทยยังได้เรียนรู้และนำวิธีการทำงาน การบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จกลับมาพัฒนาประยุกต์ใช้และต่อยอด เกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
นอกจากนี้ยังนำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และสถาบันวิจัย Fraunhofer Institut ( UMSICHT)ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านพลังงานทางเลือกของประเทศเยอรมนี ในการทำวิจัยด้านพลังงานทดแทน วัสดุจากชีวมวล ด้านโลจิสติกส์และการวางแผน โดยได้มีการลงนามความร่วมมือดังกล่าวขึ้นเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
ดร.สมัย กล่าวอีกว่า นอกจากก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐของ 2 ประเทศที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือและสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากการไปดูงานในเมืองอุตสาหกรรมด้านเคมีของเยอรมนี 2 แห่ง คือ เมือง Leverkusen และเมือง Duesseldorf
ดร.สมัย ชี้ว่า “ เนื่องจากทั้ง 2 แห่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านเคมีที่การพัฒนาทั้งด้านอุตสาหกรรมและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดียาวนานมากว่า 100 ปี โดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และมีประชากรของเมืองกว่า 70% ทำงานอยู่ในเมืองอุตสาหกรรมเคมีดังกล่าวได้เพราะมีระบบการบริหารจัดการที่ดีร่วมทั้งมีรูปแบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกับชุมชนเติบโตขึ้นคู่กัน แตกต่างจากเมืองอุตสาหกรรมทางเคมีของไทยที่กำลังประสบปัญหาอยู่ขณะนี้ จึงเห็นว่าประเทศไทยควรนำตัวอย่างของเมืองอุตสาหกรรมด้านเคมีของเยอรมนีมาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหามาบตาพุดของไทย เพื่อให้แหล่งอุตสาหกรรมกับการพัฒนาประเทศสามารถเจริญเติบโตควบคู่ไปพร้อมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP
โทร.02-270-1350-4 ต่อ 114,115