ทางลัดฝัน...ปั้นวิศวเคมีมือใหม่ ค่ายปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตร ปี 52

จันทร์ ๒๑ ธันวาคม ๒๐๐๙ ๑๖:๔๔
“ แม้ว่าจะได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ม.บูรพาแล้ว แต่การได้ความรู้จากฐานที่ 4 วิศวกรเคมีน้อย ทำให้รู้ว่าสนใจและอยากเรียนวิศวเคมีตรงเป้าที่สุด ” นายภัทร วัฒนโยธิน หรือ น้องภัทร อายุ 17 ปี ชั้น ม.6/2 โรงเรียนวัดป่าประดู่ ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง เปิดใจ

กิจกรรม “นิทรรศการสัญจร : จากปิโตรเลียม...สู่ปิโตรเคมี ” ในโครงการ “ค่ายปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตร ปี 52” โดยกลุ่ม ปตท. ร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ระดับมัธยมปลายในเขตพื้นที่การศึกษา 1 จ.ระยอง ได้เสริมประสบการณ์เรียนรู้เรื่องปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และสัมผัสโลกของวิศวกรเคมี

รูปแบบกิจกรรมนี้ จะมุ่งเน้นจุดประกายให้น้องๆ ค้นพบตัวเอง ผ่านนิทรรศการและสถานีเรียนรู้ 4 ฐาน สนุกคิดในเกมและการลงมือทดลองปฏิบัติ ตั้งแต่พื้นฐานกำเนิดปิโตรสู่กระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว และร่วมมือลดขยะเคมี

โดยกลุ่ม ปตท.นำคณาจารย์และพี่ๆ นักศึกษา จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี และวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมงานจากศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย จาก มจธ.ในฐานะตัวจริงของวิศวกรเคมี มาเป็นวิทยากรและพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด

เยาวชนผู้มุ่งมั่นและสนใจงานปิโตรเคมี จะถูกพิจารณาจากคะแนนในวิชาเคมี เพื่อเป็นใบเบิกทางในฐานะทีมตัวแทนโรงเรียน 8 คน ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชน ปิโตรแคมป์สู่แชมป์ปิโตร ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จ.ชลบุรี ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

โครงการนี้ยังเป็นเวทีเฟ้นหาเดอะสตาร์คนเก่งงานวิศวเคมี 4 คนให้ทุนเรียนฟรีระดับปริญญาตรี 4 ปี ปูทางสู่อาชีพ พร้อมกับหาสุดยอดทีมโรงเรียนสอนคนเก่งงานปิโตรเคมี เพื่อมอบโล่และทุนการศึกษา

นอกจากความรู้พื้นฐานงานปิโตรเลียมและปิโตรเคมีแบบเข้มข้นขึ้น ที่น้องๆ จะได้เล่นทดลอง และทบทวนความรู้และคิดในสถานีเรียนรู้ทั้ง 6 ฐานแล้ว ยังได้เข้าสู่โลกของวิศวกรรมเคมี ทำความรู้จักกับอุปกรณ์พื้นฐานสำคัญในงาน ไปจนถึงนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเหลือทิ้ง

ทั้งนี้น้องๆ ยังได้เข้าชมสถานที่ทำงานของวิศวกรเคมี ที่โรงกลั่นและโรงผลิตสารอะโรเมติกส์ของ PTTAR หรือ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) กันอย่างใกล้ชิด

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการสื่อความ กลุ่ม ปตท. ในพื้นที่ จ.ระยอง กล่าวว่า ภายใต้กิจกรรมนี้นักเรียนได้เรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเข้าฝึกปฏิบัติในห้องทดลอง และเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของอาชีพวิศวกรเคมี เป็นโอกาสให้ค้นหาตัวเอง ว่าสนใจและต้องการเรียนรู้ในสายวิชาชีพนี้หรือไม่ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนักเรียนและมหาวิทยาลัยที่จะได้คัดเลือกนักศึกษาที่เหมาะสม มีความสนใจและตั้งใจจริง เมื่อเรียนจบเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และสร้างประโยชน์ให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งในการผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ

ปิดท้ายพาทัวร์ห้องทดลองของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. แหล่งผลิตวิศวกรเคมีต้นแบบ ไปดู

ไปเห็นกับตาว่า สาขาวิชานี้เรียนกันอย่างไร กระตุ้นความอยากเรียนเป็นระลอก ก่อนพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับพี่ต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการปิโตรแคมป์ ในปีก่อน กระทั่งประสบผลสำเร็จคว้าทุนมาหนุนเสริมความฝันก้าวสู่การเป็นวิศวกรเคมีที่อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

จิรวัฒน์ เหมมี หรือ น้องนิก อดีตนักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้รับทุนศึกษาต่อจากการเข้าร่วมโครงการค่ายปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตร ปี 2551 ที่ผ่านมา กล่าวว่า การเข้าค่ายปิโตรแคมป์ฯ สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากต่อความคิดทุนเดิมที่สนใจเรียนในสาขานี้อยู่แล้ว

และการได้รับทุนนับเป็นกำลังสนับสนุนต่อโอกาสเข้าศึกษาต่อในสิ่งที่ชอบและอยากเป็น โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายให้กังวล โดยเฉพาะ 1 ปีที่เข้าเรียนที่ มจธ. ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนด้านนี้โดยตรง เกิดการพัฒนาการปรับตัวเรียนรู้ มีความรอบคอบและแอคทีฟขึ้นสำหรับการก้าวไปเป็นนักวิศวกรเคมีในอนาคต

ระยะเวลา 3 วัน 2 คืนของกระบวนการค่ายปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตร ปี 2552 มีเรื่องราวมากมายให้จดจำ ยืนยันจากเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของน้องๆ (ว่าที่) วิศวกรเคมี

ด้าน ฮุสเซน คานสกุล หรือ น้องเซน อายุ 18 ปี ชั้น ม. 6/1 โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา อ.บ้านฉาง กล่าวว่า ยิ่งมาเข้าค่ายยิ่งรู้สึกเชื่อมั่นว่า สายอาชีพนี้เหมาะกับเรา อยากทำงานตรงนี้ในบ้านเกิด ไม่ว่าจะได้รับทุนหรือไม่ การมีโอกาสเข้ามาร่วมแคมป์ฝึกให้เราทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ที่สำคัญช่วยจุดประกายความเชื่อมั่น ตามความฝัน และค้นหาตัวเองเจอ

ขณะที่ เบญจพร ศิลาสุวรรณ หรือ น้องเบญ อายุ 17 ปี ชั้น ม.6/3 โรงเรียนวัดป่าประดู่ บอกว่า เป็นค่ายที่สนุก เพราะมีโอกาสทดลองและปฎิบัติเต็มที่ ได้รับคำอธิบายข้อสงสัยได้ละเอียดขึ้น เดิมมุ่งมั่นมาแข่งเพื่อเอาทุนการศึกษา แต่พอร่วมกิจกรรมกลับได้ความคิดที่ว่า “ทำอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด” และตั้งใจว่าจะศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมเคมี

วันนี้ค่ายปิโตรแคมป์จึงไม่ใช่เพียงการทำกิจกรรมเพื่อสานฝันให้เด็กๆได้เป็นวิศวกรเคมีเท่านั้น แต่ยังเป็นบุคคลากรที่มีคุณค่าและกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองอีกด้วย

นี่คือหนึ่งในพันธกิจของกลุ่ม ปตท. เพื่อพัฒนาเยาวชนคนเก่ง คนดี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ