รศ.ดร.เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ เลขาธิการมูลนิธิ วพย. ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า “โรงเรียนถือได้ว่าเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กๆ ในแต่ละวันเด็กๆใช้เวลาทำกิจกรรมอยู่ในโรงเรียนไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง หลายๆ ครั้งอาจมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงได้ขณะที่อยู่ในโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนควรมีการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของห้องพยาบาล และตู้ยา ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการให้การดูแลเบื้องต้น แต่พบว่ายังมีโรงเรียนจำนวนมากที่ยังขาดความพร้อมในสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นมูลนิธิจึงได้จัดทำโครงการตู้ยาโรงเรียนขึ้น โดยเน้นกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม กิจกรรมแรกคือการสำรวจตู้ยาโรงเรียน พร้อมมอบตู้ยาพร้อมยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน และกิจกรรมที่สองคือการจัดอบรมเรื่องการบริหารตู้ยาและความรู้เรื่องยาแก่อาจารย์และนักเรียนประจำห้องพยาบาล ตลอดจนมอบหนังสือความรู้เรื่องการจัดการยาในโรงเรียน
นายแอนดรู วอง กรรมการผู้จัดการบริษัทบูพา ประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) จำกัด และตัวแทนของกองทุนบูพา กิ๊ฟวิ่ง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อทาง มูลนิธิ วพย. แนะนำโครงการตู้ยาโรงเรียนให้กับบูพา ประเทศไทย ซึ่งทางเราพิจารณาแล้วว่าเป็นโครงการที่ดีมากและตรงกับแนวคิดของบริษัทที่ส่งเสริมเรื่องสุขภาพที่ดีและการให้ความรู้ในเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน จึงนำโครงการนี้เสนอกับ กองทุนบูพา กิ๊ฟวิ่ง ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งทางกองทุนฯ เห็นด้วยและยินดีสนับสนุนโครงการนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี โดยเล็งเห็นว่า โครงการตู้ยาโรงเรียนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความรู้ในเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต”
“สำหรับโครงการตู้ยาโรงเรียนนี้ การจัดอบรมเรื่องการบริหารตู้ยาและความรู้เรื่องยาแก่อาจารย์และนักเรียนประจำห้องพยาบาล ในปีแรกเราจะมุ่งไปที่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เน้นโรงเรียนที่มีความพร้อมของอาจารย์ในการดูแลห้องพยาบาล เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่นๆในละแวกใกล้เคียง การจัดอบรมครั้งแรกจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ซึ่งจะมีอาจารย์และนักเรียนในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมประมาณ 150 คน และจะมีพิธีมอบตู้ยาโรงเรียน พร้อมยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนอีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายว่าในปีแรกนี้จะต้องมีอาจารย์และนักเรียนผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 400 คนทั่วประเทศ” รศ. ดร. เสาวคนธ์ กล่าวสรุป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ไข่มุกข์ ปั้นแตง
ส่วนงานพัฒนาความร่วมมือและประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ 02 621 8992
อีเมล์ [email protected]
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 621 8992 มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา