นายอนันต์ รุ่งพรทวีวัฒน์ รองผู้ว่าการกลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด วว. ชี้แจงว่า ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ประสบความสำเร็จในการค้นพบและตั้งชื่อบุหรงชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด ได้แก่ บุหรงช้างและบุหรงดอกทู่ โดยพรรณไม้ทั้ง 2 ชนิด ได้มีการตรวจสอบการตั้งชื่อและนำไปตีพิมพ์รายงานในวารสาร Systematic Botany ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 หน้า 252-265 ประจำปี 2552 ทั้งนี้วารสารดังกล่าวเป็นวารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติที่ออกในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยต้นแบบของตัวอย่างแห้ง (Type specimen) ของทั้งบุหรงช้างและบุหรงดอกทู่ได้มีการเก็บไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (BKF) นับเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า บุหรงช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dasymaschalon grandiflorum Jing Wang, Chalermglin & R.M.K. Saunders สำรวจพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544 ในป่าดิบชื้นของอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ที่ระดับความสูง 300-500 เมตร ลักษณะพิเศษของบุหรงช้าง คือ เป็นบุหรงเพียงชนิดเดียวที่เป็นเถาเลื้อย (บุหรงชนิดอื่นทั้งหมดเป็นไม้พุ่ม) และมีดอกและผลขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลบุหรง เถาเลื้อยไปได้ไกลถึง 15 เมตร เถามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร แผ่นใบรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง 6-8 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนา เรียบ ด้านบนใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาวเคลือบ มีเส้นแขนงใบ 11-16 คู่ ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ดอกออกตามเถาแก่ ก้านดอกยาว 8.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบแยกจากกัน รูปกลมขนาด 6-7.5 มิลลิเมตร กลีบดอก 3 กลีบ กว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 17 เซนติเมตร ขอบกลีบบรรจบกันเป็นแท่งสามเหลี่ยมคล้ายเหล็กขูดชาร์ฟ ตอนปลายกลีบบิดเป็นเกลียว ผลกลุ่ม ก้านผลรวมยาว 8-10 เซนติเมตร มีผลย่อย 5-10 ผล แต่ละผลรูปทรงกระบอกยาว 3-6 เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีแดงเข้ม มี 3-6 เมล็ด ผลมีรอยคอดตามเมล็ด แต่ละเมล็ดกลม สีเหลืองอ่อน ออกดอกบานในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ผลแก่ในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
สำหรับ บุหรงดอกทู่ มีการสำรวจพบมานานหลายปี พบในป่าดิบเขาของอำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่ระดับความสูง 800-1,600 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dasymaschalon obtusipetalum Jing Wang, Chalermglin and R.M.K. Saunders ลักษณะพิเศษของบุหรงดอกทู่ เป็นไม้พุ่ม สูง 4-6 เมตร ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 12-17 เซนติเมตร เนื้อใบหนา ด้านบนใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาวเคลือบ มีเส้นแขนงใบ 8-14 คู่ ก้านใบยาว 5-7 มิลลิเมตร ดอกออกที่ปลายยอด ก้านดอกยาว 4.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ แยกจากกัน รูปกลมขนาด 2-4 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-3 เซนติเมตร ขอบกลีบบรรจบกันเป็นแท่งสามเหลี่ยม ตอนปลายดอกทู่และไม่บิด ผลกลุ่ม ก้านผลรวมยาว 4.5-6 เซนติเมตร มีผลย่อย 9-14 ผล แต่ละผลรูปทรงกระบอก ยาว 2.5-6.5 เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีแดงเข้ม มี 1-4 เมล็ด ผลมีรอยคอดตามเมล็ด แต่ละเมล็ดกลมรี สีเหลืองอ่อน ออกดอกบานในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ผลแก่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. กล่าวถึงการต่อยอดงานวิจัยหลังจากการสำรวจพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ว่า ที่ผ่านมา วว. มีผลงานในการสำรวจพรรณไม้การตั้งชื่อและรายงานในวารสารระดับนานาชาติออกมาเป็นระยะๆ ทั้งพรรณไม้ในวงศ์กระดังงาและวงศ์จำปา นอกเหนือจากการค้นพบพรรณไม้แล้ว วว.ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย รวบรวม เพื่อขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิด โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมทำการศึกษาประเมินสถานภาพของพรรณไม้ในถิ่นเดียวที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม นับเป็นการช่วยต่อยอดงานวิจัยและอนุรักษ์พรรณไม้อย่างยั่งยืน
“....ขณะนี้ วว. กำลังทำการศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์บุหรงดอกทู่ โดยวิธีการทาบกิ่ง เสียบกิ่ง และศึกษาวิจัยตรวจสอบหาสารสำคัญในการออกฤทธิ์และโครงสร้างทางเคมีของสารดังกล่าว สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในทางเภสัชกรรม และเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป แต่สำหรับบุหรงช้างนั้นเนื่องจากเป็นพืชที่เติบโตอยู่ในพื้นที่ที่ยากลำบากในการเข้าไปสำรวจ ขณะนี้จึงยังไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย....” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. กล่าวสรุปในตอนท้าย
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 0 2577 9000 www.tistr.or.th E-mail : [email protected]