ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และนางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ร่วมเสนอผลการทำประชาเสวนา (citizen dialogue) ในภาพรวม เพื่อหาฉันทามติต่อการสร้างจิตสำนึกใหม่ และการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อปฏิรูปการประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในเวทีการประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา “การปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล” ครั้งที่ 24 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
การจัดประชาเสวนาได้ดำเนินการจัดใน 7 จังหวัด (ระยอง กำแพงเพชร กาญจนบุรี ชุมพร สุรินทร์ น่าน หนองคาย) ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2552 ผลปรากฎว่า สวัสดิการที่คนไทยต้องการ การศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง ประชาชนอยากให้ทุกคนได้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย และเห็นสอดคล้องกันว่ารัฐควรจัดสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและบริการฟรี พร้อมทั้งให้คงค่านิยมเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ความรัก ความสามัคคี และความสงบเอาไว้
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า สองอันดับแรกกลุ่มตัวแทนมีฉันทามติว่า รัฐควรจัดให้ทุกคนได้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย และควรจัดให้ทุกคนได้รับบริการรักษาพยาบาลฟรีและมีคุณภาพ อันดับต่อมามีการฝึกอาชีพและหางานให้กับนิสิตนักศึกษาที่จบใหม่ คนว่างงานและคนที่ต้องการเปลี่ยนงาน มีเงินชดเชยรายได้กับคนที่ตกงานหรือคนที่ไม่สบายจนทำงานไม่ได้ ให้เงินค่าครองชีพแก่คนพิการที่ทำงานไม่ได้ และให้เงินบำนาญแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
ประเด็นการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ ว่า ตัวแทนประชาชนยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ ดังนี้ ด้านการศึกษาควรจะให้ฟรีทุกคน หรือเฉพาะคนจน หรือคนเรียนดี หรือคนที่ขาดแคลนจริงๆ ด้านแรงงานเห็นว่า ควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานตามกลุ่มอาชีพเพื่อคุ้มครองแรงงาน ทั้งในและนอกระบบ อาทิ ผู้ค้าขาย อาชีพอิสระ แรงงานในภาคเกษตร เสนอให้มีการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกร เช่น ส่งเสริมทักษะและอาชีพเสริมช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูก ส่วนกรณีผู้ว่างงานเสนอว่า ให้มีการชดเชยรายได้กรณีถูกเลิกจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ชดเชย 30-50% ของเงินเดือนเดิม ต้องนิยามผู้ว่างงานให้ชัดเจนระหว่างว่างงานจริงหรือสมัครใจว่างงาน ควรมีระเบียบตรวจสอบที่ดีจาก
ชุมชน
“ด้านสวัสดิการผู้สูงอายุนั้น ยังมีความเห็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ต่างกันระหว่าง ให้เฉพาะคนยากจนหรือไม่มีคนดูแล จะได้จ่ายได้มากกว่าคนละ 500 บาทต่อเดือน หรือควรให้ทุกคนเพื่อความเท่าเทียมมากน้อยตามสภาพ มีการเสนอว่า การคัดเลือกผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพนั้นควรมีการพิจารณาตรวจสอบจากชุมชนและ อบต. ทั้งมีความเห็นอีกว่า ควรจ่ายให้เฉพาะอายุ 65 ปีขึ้นไป การรักษาพยาบาลนั้นเห็นว่า รัฐต้องควบคุมการให้บริการให้มีความเสมอภาคเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกคน และสวัสดิการสำหรับผู้ด้อยโอกาสควรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คนพิการที่สามารถทำงานได้ควรถูกดูแลเรื่องอาหารที่อยู่อาศัย ฝึกอาชีพและหางานให้ ขณะที่คนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้นต้องมีการเพิ่มเบี้ยเลี้ยง จัดที่พักอาศัย ดูแลรักษาบำบัดฟื้นฟูด้วย”รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว
นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ในส่วนของค่านิยมที่คิดว่าควรเปลี่ยนแปลง คือ 1.ระบบอุปถัมภ์การใช้เส้นสาย แบ่งพรรคพวก 2.การหลงในอบายมุข 3.การขาดความสามัคคี ใช้ความรุนแรง ใช้อารมณ์ไม่ใช้เหตุผล 4.การแต่งกายที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น และ 5.การนิยมหรือรับวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งมีความเห็นว่า พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เกิด เป็นแบบอย่างที่ดี ส่วนโรงเรียน สถาบันการศึกษาและวัดต้องปลูกจิตสำนึก รณรงค์อย่างต่อเนื่องรวมถึงให้แนวทางปฏิบัติ และชุมชนต้องช่วยกันดูแลเฝ้าระวัง และองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาครัฐควรประสานกับชุมชนทั้งกิจกรรมและงบประมาณ ทั้งบทบาทของสื่อต้องเผยแพร่แต่สิ่งสร้างสรรค์ให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อ สนับสนุนค่านิยมต่างๆ