รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ กล่าวว่า การประชุมของเครือข่ายสถาบันทางปัญญาว่า มีส่วนร่วมรับผิดชอบการปฏิรูปประเทศไทยในมิติการศึกษา ประเด็นการจัดการเรียนรู้การศึกษาเพื่อชุมชน รวมถึงงานชุมชน ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกันทั้งหมด การที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และได้ทำความเข้าใจปัญหาบางประเด็นอย่างลึกจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่าง ๆ ที่มีความรู้และประสบการณ์ ในแต่ละประเด็นนับเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งทิศทางการดำเนินงานของเวทีปฏิรูปฯ ในปีต่อไป ควรสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และ เปลี่ยนเป็นพลังทางสังคม
“อยากจะเห็นความเชื่อมโยงว่าจะทำอย่างไรให้มีความเคลื่อนไหวระหว่างผู้ที่เข้าร่วมเวทีฯ หน่วยงาน และกลุ่มต่าง ๆ ของแต่ละเครือข่ายที่มาร่วม ให้แต่ละคนที่เป็นตัวแทนของเครือข่ายมากกว่าในลักษณะตัวบุคคล”
รศ.ดร. เสรี พงศ์พิศ กล่าวว่า การผลักดันโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตเป็นสถาบันการศึกษาเอกชน เข้าสู่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะรู้ผลปีหน้า ซึ่งที่ผ่านมา สกอ. ให้ความร่วมมืออย่างดี เกี่ยวกับประเด็นมาตรฐานคุณภาพของหลักสูตร รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า มีแบบที่หลักสูตรทั่วไปมีหรือไม่ หรือจะมีตัวชี้วัดอะไรบ้างที่เป็นมาตรฐานสากลของปริญญาตรี
“โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ต้องการสร้างความรู้ใหม่ให้คน เพราะจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีทำให้เกิดสิ่งใหม่ ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคนที่เรียน ทำให้ผู้เรียนได้สิ่งใหม่ๆ จากการได้ร่วมเรียนรู้ ร่วมฟัง ได้มีการทำงานด้วยภายในของตัวเอง นำไปปฏิบัติด้วย เช่น กรณีของอบต.ปากพูน อ.เมืองนครศรีธรรมราชที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาคนได้ส่งตัวแทนกลุ่มหนึ่ง มาเรียนรู้จากโครงการฯ นำปัญหาจริงมาเรียนรู้และแก้ไข นำความรู้พัฒนาจัดการเป็นการเรียนเพื่อชีวิตจริงๆ เป็นการสร้างความรู้ใหม่ซึ่งความรู้ใหม่เท่านั้นที่จะมีพลังเปลี่ยนแปลงได้” รศ.ดร. เสรี กล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th