นพ.สมาน ฟูตระกูล กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาระดับชาติและระหว่างชาติ ธุรกิจแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เป็นธุรกิจใหญ่และเกี่ยวพันกับทุกวงการ
“หากมองเป็นวิกฤติเราอาจแพ้ แต่ถ้ามองว่าเป็นโอกาสก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปกป้องผลประโยชน์ของลูกหลานเรา โอกาสกับวิกฤติขึ้นอยู่กับเราว่ามองอย่างไร” นพ.สมาน กล่าว
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการพัฒนาของกระบวนการนโยบายแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ได้ริเริ่มให้มีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการจัดการกับปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันของสังคมไทยในการจัดการกับปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ จึงมีมติรับรอง แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ
โดยให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด เพื่อให้นำแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ดี ปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะสามารถป้องกันและควบคุมได้ ต้องควบคุมทั้งการบริโภค และการฟื้นฟูเยียวยาแก้ไขผู้ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
คณะทำงานนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ จะทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและภาคีเครือข่าย ในการจัดการปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม การจัดสรรงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตสุรา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ พร้อมให้การสนับสนุนการรณรงค์เพื่อขจัดความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว อันเป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอล์
การดำเนินการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาตินั้น เลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะต้องรายงานต่อ สมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3 ซึ่งสิ่งนี้ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่คนไทยทุกคนจะร่วมมือกันลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และจับมือกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาต่อไป
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวสมัชชาสุขภาพสามารถติดตามเพิ่มเติม ได้ที่ www.samatcha.org
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : สุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย) ฝ่ายประชาสัมพันธ์การประชุมสมัชชาฯ
e-mail : [email protected]