ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับเครือข่ายกว่า 10 องค์กร จัดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “แผนยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาสุราระดับชาติ” เพื่อระดมความคิดให้เกิดการควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังพบปัญหามีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ทั้งด้านของผู้บริโภค ผลกระทบของการดื่มและรวมถึงการโฆษณา อีกทั้งเพื่อเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนตื่นตัว เข้าใจร่วมกันสร้างสังคมแห่งการป้องกัน
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาสุราระดับชาติว่า ประเทศไทยต้องทบทวนถึงกลไกการรับมือกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกฎหมายและมาตรการต่างๆออกมา แต่ก็ยังมีช่องโหว่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอีกหลายประการ และยังขาดยุทธศาสตร์เพื่อกำกับให้มาตรการต่างๆดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายและการสนับสนุนให้มีมาตรการในระดับท้องถิ่น โดยข้อจำกัดและแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อยู่ในร่างยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ ระดับชาติฉบับนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการแผนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ได้ดำเนินการโดยคณะ กรรมการสุขภาพแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ เพื่อควบคุมปัญหาสุราระดับชาติ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การควบคุมเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพ เช่น ราคา สถานที่ เวลาจำหน่าย การเข้าถึงของเยาวชน 2.ปรับเปลี่ยนค่านิยม และลดแรงสนับสนุนการดื่ม เช่น ควบคุมการตลาดและโฆษณา 3.ลดอันตรายของการบริโภค เช่น ควบคุมการดื่มที่เสี่ยงสูง เมาแล้วขับ 4.การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ เช่น นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชุมชน ของหน่วยงาน สถานประกอบการ 5.พัฒนากลไกการจัดการและสนับสนุนที่เข้มแข็ง เช่น ความมุ่งมั่น มีส่วนร่วม ปกป้องผลกระทบจากข้อตกลงทางการค้า เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ในระยะอันใกล้นี้ ประเทศไทยเตรียมทำข้อตกลงทางการค้าร่วมกับหลายประเทศ ส่งผลให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางรายการมีราคาถูกลง เพราะปลอดภาษี
ขณะที่ข้อมูลคนไทย ดื่มสุรา นพ.ทักษพล กล่าวว่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และมีการคาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าปัญหาสุราจะทวีความรุนแรงขึ้น หากยังไม่มีมาตรการที่ได้ผลจริงออกมารับมือ ปริมาณการดื่มของคนไทยจะเพิ่มขึ้น 14 % และจะมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มอีก 30 %
“ยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้สามารถช่วยชะลอตัวชี้วัดการดื่มสุราของคนในสังคมได้ โดยยุทธศาสตร์ฯ นี้ไม่ได้ต้องการทำสงครามกับผู้บริโภค ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสุราเครื่องดื่มมึนเมาแต่อย่างใด แต่จะทำสงครามกับปัญหาผลกระทบของการดื่มสุรา ถึงแม้การดื่มจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของส่วนรวม”ผอ.ศวส.กล่าว
ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร นักวิชาการร่วมในเวทีประชุมวิชาการสุราระดับชาติ กล่าวว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถพบเห็นง่ายขึ้นทุกที่ทุกเวลา ทั้งตัวผลิตภัณฑ์ ชื่อ โลโก้ ทั้งในบ้านนอกบ้าน และจากสื่อในโลกจริงและโลกเสมือนจริง เช่น อินเทอร์เน็ต ไฮไฟว์ ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่จากโฆษณาการจัดกิจกรรมพิเศษของบริษัทแอลกอฮอล์ แต่สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเด็กและเยาวชนที่รับชมนั้นอาจจะตกอยู่ในภาวะ ของนักดื่มหน้าใหม่ได้
“งบโฆษณาของธุรกิจ แอลกอฮอล์ในปี 2551 เพิ่มจากปี 2550 แสดงให้เห็นว่าต่อไปนี้ก็จะพบกับความถี่ในการรับชม ได้ยินของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น แต่ที่น่ากังวลคือเนื้อหาของโฆษณาที่พยายามแสดงออกทั้งทางตรงทางอ้อม โดยพบว่า เนื้อหาโฆษณาที่แฝงมากับสปอร์ตโฆษณาและกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเชื่อมโยงกับ เนื้อหาต้องห้าม เช่น การผูกพันกับความสนุกสนาน งานเลี้ยงสังสรรค์รื่นเริง การแข่งขันกีฬา การประกวคเรื่องความเซ็กซี่ นอกจากนี้บริษัทแอลกอฮอล์พยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมโดยการจัด กิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น” ดร.นิษฐา กล่าว