กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ปัญหาสุขภาพที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ภาวะโรคอัลไซเมอร์ (สมองเสื่อม) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วต้องพึ่งพาคนรอบข้างทั้งครอบครัวและสังคมอย่างมาก ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ให้มีการบริการเชิงรุก การคัดกรองโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง ทั้งนี้จากการที่กรุงเทพมหานครร่วมมือกับมูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จัดโครงการ “วันคัดกรองความจำ” เมื่อวันที่ 1—30 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุข 1—68 ของกรุงเทพมหานคร ดำเนินกิจกรรมการคัดกรองกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 2,685 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเป็นโรคสมองเสื่อมถึงร้อยละ 31.2 และมีอาการบกพร่องทางพุทธิปัญญาในระดับน้อย ที่สามารถพัฒนากลายไปเป็นโรคสมองเสื่อมได้ร้อยละ 34 และกลุ่มปกติร้อยละ 34.8 ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ โดยได้พัฒนาระบบการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม เพื่อรองรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ดำเนินการอบรมแพทย์เพื่อวางแนวทางการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ของแพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง เมื่อวันที่ 2-3 ธ.ค. 52 ที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจได้ว่ากรุงเทพมหานครสามารถให้บริการในเบื้องต้นได้
สำหรับการจัดงาน “สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์” จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2553 ณ ลุมพินีสถาน สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เวลา 08.30-18.00น. โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมแสดงนิทรรศการจากมูลนิธิฯเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ การให้บริการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ และให้การปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบนเวที การแสดงดนตรีที่ฟังสบาย ผ่อนคลาย และการเล่นเกมที่สนุกสนานด้านการออกกำลังสมอง สำหรับผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับบริการ แต่มีความสนใจในการคัดกรองความจำ สามารถเข้ารับบริการได้ในวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคอัลไซเมอร์ และร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง