สิ่งที่ตามมาคือ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องเจ็บตัวจากภาวะการขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเกษตรกรเองควรระมัดระวังและ จำเป็นต้องปรับตัวรับสถานการณ์ในเบื้องต้นนี้ให้ดีที่สุด โดยควรปลดระวางแม่ไก่แก่ตามกำหนดที่ 72 สัปดาห์ อย่ายืดอายุไก่ยืนกรงออกไป ขณะเดียวกัน ควรชะลอการเข้าลูกไก่ไข่เพื่อควบคุมปริมาณผลผลิตไข่ไก่ตั้งแต่ต้นทาง
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐปล่อยให้เกษตรกรต้องเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ท้ายที่สุดเมื่อเกษตรกรอยู่ไม่ได้ต้องล้มเลิกอาชีพนี้ไป ในอนาคตผู้บริโภคก็อาจต้องบริโภคไข่ไก่ในราคาแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงชีพด้วยอาชีพเดิมนี้ต่อไปได้ รวมถึงผู้บริโภคได้บริโภคไข่ไก่ในราคาที่สมเหตุผล ภาครัฐจึงควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาอัตราการบริโภคอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่ พ.ศ.2551-2555 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ที่ตั้งเป้าเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยจากเดิม 160 ฟองต่อคนต่อปี ให้เป็น 200 ฟองต่อคนต่อไปภายในปี 2555 ยังคงเป็นแผนแม่บทที่รัฐควรนำมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะสามารถช่วยให้ทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค ตลอดจนเด็กนักเรียนและเยาวชน ได้รับประโยชน์กันโดยถ้วนหน้า
อนึ่ง ไข่ไก่เป็นอาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่มีราคาถูก นอกจากแร่ธาตุและวิตามินต่างๆที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ในไข่ไก่ยังมี “โคลีน” ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมองในเด็ก และช่วยชะลอการสูญเสียความทรงจำจากการเสื่อมของเซลล์สมองซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ในผู้สูงอายุ ไข่ไก่จึงนับเป็นอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและคนทุกเพศทุกวัย