การทำงาน รวมทั้งศักยภาพและกระบวนทัศน์ในการทำงานของบุคลากร เพื่อให้สามารถตอบรับและยืดหยุ่นต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อันจะเอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมในตลาดทุน (foster business innovation) และส่งเสริมความสามารถในแข่งขันของภาคธุรกิจ (promote competition) ซึ่งเป็นพันธกิจตามแผนกลยุทธ์ที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ สอดคล้องตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ ”
โครงการบริหารการเปลี่ยนแปลงเน้นการปรับเปลี่ยนใน 3 ด้าน ได้แก่
1. ด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแล โดยมีแนวทางที่จะปรับเป็นการระบุหลักการและวัตถุประสงค์ (principle based) แทนการออกเป็นกฎเกณฑ์ที่ลงรายละเอียดและตายตัว ตัดกฎเกณฑ์ส่วนที่อาจเป็นการสร้างภาระแก่ภาคธุรกิจเกินจำเป็น รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองนักลงทุนจะเน้นการเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ (disclosure based) แทนการรอให้คุณสมบัติครบถ้วนก่อน (merit based) ตามที่ถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
2. ด้านกระบวนการทำงาน โดยมีแนวทางที่จะผ่อนคลายข้อกำหนด ลดระยะเวลาและขั้นตอนการพิจารณา จัดลำดับความสำคัญของงาน และสนับสนุนให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมกำกับดูแลกันเอง (SRO) ในเรื่องมาตรฐานการประกอบธุรกิจและการกำกับดูแลเนื่องจากผู้ปฏิบัติย่อมมีความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นอย่างดี โดย ก.ล.ต. จะกำกับดูแลอยู่ห่าง ๆ
3. ด้านศักยภาพและกระบวนทัศน์ของบุคลากร โดยมีแนวทางที่จะพัฒนาศักยภาพและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของบุคลากรใน ก.ล.ต. ให้มีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานอันจะส่งผลให้สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพโครงการย่อยภายใต้โครงการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มดำเนินการแล้วได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบการทำงานเกี่ยวกับการออกตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อให้มีการดำเนินงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น
โดยได้จัดตั้งคณะทำงาน Product Committee ซึ่งเป็นคณะทำงานภายใน ทำหน้าที่ติดตามพัฒนาการใหม่ ๆ ในต่างประเทศ วางแผนและติดตามให้มีการออกตราสารใหม่ตามแผนงานที่กำหนดไว้ และติดตามดูแลไม่ให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกไป เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนและบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน
สำหรับโครงการที่จะเริ่มมีผลในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ได้แก่ โครงการทบทวนกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ โดยลดระยะเวลาการพิจารณา แก้ไขคุณสมบัติที่ไม่จำเป็นออก และนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โดยยังคงวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลในการคุ้มครองผู้ลงทุนอยู่ครบถ้วน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่คาดว่าจะตามมาอีกในช่วงปีนี้ เช่น โครงการผ่อนคลายข้อกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องมายื่นขอความเห็นชอบหรือผ่อนผันเกี่ยวกับการดำเนินงานต่าง ๆ โครงการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจนายหน้าและตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โครงการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนและการกำกับดูแลธุรกิจจัดการลงทุน โครงการปรับปรุงกฎเกณฑ์และกระบวนการในการพิจารณาอนุมัติเสนอขายหลักทรัพย์ เป็นต้น