วิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์ เป็นนักไวโอลินคลาสสิก และเป็นอาจารย์ที่คณะดนตรีของมหาวิทยาลัยเดอพอล ในเมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเริ่มให้ความสนใจกับบทบาทของเครื่องดนตรีในวัฒนธรรมพื้นบ้านเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเดินทางมายังพื้นที่อันห่างไกลในประเทศไทย ลาว จีน และพม่า เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาเกี่ยวกับดนตรีของชนเผ่าเหล่านี้อย่างละเอียดลึกซึ้งในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเป็นเวลากว่า 4 ปี และในปี พ.ศ. 2552 หนังสือประกอบภาพที่สวยงามชื่อ “Songs of Memory” (บทเพลงแห่งความทรงจำ) ได้รับการตีพิมพ์พร้อมกับแผ่นซีดีเพลงของชนเผ่าต่างๆ ที่เธอรวบรวมไว้
“ชนเผ่าที่อยู่บนภูเขาซึ่งยากจะเข้าไปถึงในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำนี้ มีชีวิตผ่านมานับร้อยปีโดยการถ่ายทอดความรู้ ประวัติศาสตร์ ประเพณีและความเชื่อต่างๆ ด้วยการบอกเล่าปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น แต่ก็ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้จะคงอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่ เป้าหมายในการทำงานของดิฉันคือช่วยรักษาความยิ่งใหญ่ของขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าเหล่านี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายไป” วิกทอเรียกล่าว
ภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ นำเสนอมุมมองของ วิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์ โดยเน้นความงดงามของกิจวัตรประจำวันที่เรียบง่ายของชนเผ่าจากการมองผ่านเลนส์กล้องของเธอ เช่น การทอผ้า เก็บเกี่ยวผลผลิต เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนพิธีกรรมตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยมีแนวคิดหลักจากปัจจัย 3 ประการ ซึ่งเป็นเสมือนจิตวิญญาณที่กำหนดวิถีชีวิตของชนเผ่าต่างๆ ได้แก่ Patterns หรือลวดลายซึ่งมีความหมายโดยแสดงออกผ่านเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ อันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าต่างๆ และยังเชื่อมโยงถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สวมใส่ด้วย Passages หรือช่วงชีวิตที่ดำรงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และนำมาซึ่งพิธีกรรมต่างๆ ในวาระสำคัญของชีวิต เช่น การเกิด การแต่งงาน และการตาย Prayers หรือบทสวด สื่อถึงความเชื่ออันลี้ลับและจิตวิญญาณ ซึ่งแต่ละชนเผ่าแสดงออกผ่านทางดนตรี การขับร้อง รวมไปถึงการบูชาและการรักษาโรค อันเป็นมรดกที่ตกทอดมาจาก บรรพบุรุษ
นิทรรศการภาพถ่าย “Patterns, Passages & Prayers: Traditional Cultures of the Golden Triangle—สามบริบทกำหนดวิถีแห่งสามเหลี่ยมทองคำ” นี้ เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความรู้และความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในภาคเหนือให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งโรงแรมแทมมารินวิลเลจได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปให้ดีที่สุด โดย คลอดีน ทริโอโล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการสื่อสาร กล่าวว่า “บรรยากาศของแทมมารินวิลเลจ ได้รับแรงบันดาลใจจากการออกแบบ สถาปัตยกรรมในภาคเหนือของไทยแบบดั้งเดิม ทั้งยังตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของเชียงใหม่ ซึ่งให้ความรู้สึกว่าที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นของท้องถิ่น จึงเป็นสถานที่ ที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการจัดนิทรรศการที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ แห่งสามเหลี่ยมทองคำในครั้งนี้”
นอกจากนี้ โรงแรมแทมมารินวิลเลจ ยังร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดนิทรรศการ “Songs of Memory” - บทเพลงแห่งความทรงจำ ของ วิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์ ที่บันทึกเรื่องราวทางวัฒนธรรมของ ชนเผ่าอันทรงคุณค่า โดยจะจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2553 ทั้งยังมีการประชุมสัมมนาเรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความเชื่อของชนเผ่า ประกอบกับการแสดงดนตรี การนำเสนอในรูปแบบต่างๆ และการสาธิตขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่า ตลอดจนการจัดเทศกาลอาหาร ที่จะสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับนิทรรศการดังกล่าวด้วย
โรงแรมแทมมารินวิลเลจ เชียงใหม่ เป็นโรงแรมแบบบูติคสไตล์ล้านนาที่มีเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว ตั้งอยู่ ใจกลางย่านประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ เหมาะสำหรับการเยี่ยมชมทั้งวัดอันเก่าแก่และถนนสำหรับการช้อปปิ้งที่มีอยู่มากมาย โรงแรมมีห้องพัก 42 ห้องและห้องสวีทอีก 3 ห้อง แขกที่มาพักสามารถสัมผัสความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมทางเหนือของไทยจากการใช้ผ้าและลวดลายของชนเผ่าต่างๆ ในการตกแต่งบรรยากาศ
ชื่อของโรงแรมมีที่มาจากต้นมะขามเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่แผ่ร่มเงาและให้เความสงบร่มรื่นอย่างแท้จริง
ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยของ วิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์ มีอยู่ในเว็บไซต์ www.tribalmusicasia.com