มานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 16 มกราคมของทุกปี ทางกระทรวงสาธารณสุขจัดให้เป็น “วันราชประชาสมาสัย” เพื่อเป็นวันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่องานโรคเรื้อนของประเทศนับแต่ปี 2503 แต่สำหรับปี 2553 นี้ เป็นปีที่มีความพิเศษยิ่งขึ้น เนื่องจากครบรอบ 50 ปีของสถาบันราชประชาสมาสัย ซึ่งตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาทางสถาบันฯได้มีการดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริสำเร็จด้วยดีสมดังพระราชปณิทาน อาทิ การจัดตั้ง และพัฒนาสถาบันราชประชาสมาสัยจนปัจจุบันเป็นหน่วยงานระดับ “สำนัก” ในกรมควบคุมโรคเพื่อเป็นสถาบันโรคเรื้อนแห่งชาติ ,การพัฒนาโครงการควบคุมโรคเรื้อนตามแนวพระราชดำริจนสามารถขยายโครงการครอบคลุมทุกจังหวัดได้ในปี 2519 และกำจัดโรคเรื้อนได้สำเร็จไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขในปี 2537 นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบให้แก่บุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนได้เรียนร่วมกับนักเรียนปกติได้
สถานการณ์โรคเรื้อนของประเทศไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา นับจากปี พ.ศ.2496 ซึ่งขณะนั้นกองควบคุมโรคเรื้อนยังสังกัดในกรมอนามัย พบว่าโรคเรื้อนเป็นโรคระบาดรุนแรง ซึ่งมีผู้ป่วยทั่วประเทศในขณะนั้นมากถึง 140,000 ราย คิดเป็นอัตราความชุก 50 ต่อประชากร 1 หมื่น เรียกได้ว่าในอดีตประชากรทุก 1 หมื่นคนจะเป็นโรคเรื้อนมากถึง 50 คน นับจากนั้น “โรคเรื้อน” จึงกลายเป็นโรคหนึ่งที่น่าหวาดหวั่น และหลายหน่วยงานต่างใช้ความพยายามในการควบคุมโรคมาโดยตลอด จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่เป็นโรคเรื้อน และสนพระราชหฤทัยในปัญหา จึงทรงรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนเป็นโครงการพระราชดำริในปี 2499 และได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิบดีกรมอนามัยขณะนั้นให้เร่งสร้างสถาบันโรคเรื้อน สำหรับการค้นคว้าวิจัยโรคเรื้อนและฝึกอบรมผลิตพนักงานบำบัดโรคเรื้อนให้รวดเร็วเพียงพอกับการแพร่ระบาดของโรค โดยได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กระทรวงสาธารณสุขสร้างสถาบันโรคเรื้อนขึ้น และพระราชทานนามว่า “สถาบันราชประชาสมาสัย” เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2501 นับจากนั้นสถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศก็ค่อยๆลดความรุนแรงลง โดยในปี 2537 พบว่าอัตราความชุกโรคลดลงที่ต่ำกว่า 1 ต่อหมื่น ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกรับรองว่าประเทศไทยสามารถกำจัดโรคเรื้อนได้สำเร็จไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขในปี 2537 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายทั่วโลกที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ในปี 2543 และ 2548 ต่อมาในภายหลัง ล่าสุด ในปี 2552 อัตราความชุกโรคลดลงเหลือเพียง 0.15 ต่อประชากร 1 หมื่นคนใและมีอัตราการค้นพบผู้ป่วยใหม่เพียง 0.43 ต่อประชากร 1 แสนคน โดยพบผู้ป่วยใหม่เพียง 278 ราย
ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทที่สำคัญของมูลนิธิฯคือ การนำกรรมการและผู้เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นระยะๆ เพื่อทูลเกล้าฯถวายรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานโรคเรื้อนทุกด้านตามแนวพระราชดำริ และขอพระราชทานพระราชกระแส พระบรม ราโชบาย พระราชทฤษฎีและพระราชดำริเพิ่มเติม ด้วยทรงห่วงใย สนพระราชหฤทัยและทรงติดตามผลโครงการทุกโครงการตามแนวพระราชดำริด้วยพระปรีชาญาณ ด้วยเหตุนี้มูลนิธิฯและผู้เข้าเฝ้าฯ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานทุกคนจึงให้ความทุ่มเทกับการปฏิบัติงานทุกกิจกรรม ทุกโครงการเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลด้วยดีตรงตามเป้าหมาย และในปี 2553นี้ ถือเป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีของการได้รับพระมหากรุณาธิคุณและพระราชดำริให้กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย และมูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ มูลนิธิฯจึงร่วมกับกระทรวงฯจัดงานเฉลิมฉลอง และรณรงค์เป็นพิเศษกว่าทุกปีภายใต้ชื่อ “ราชประชาสมาสัย 50 ปีแห่งการสนองพระราชปณิธาน” ซึ่งจะเริ่มงานนับแต่วันราชประชาฯในวันที่ 16 มกราคม ศกนี้ ไปจนถึงสิ้นปี และต่อเนื่องถึงปี 2554 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยกิจกรรมเฉลิมฉลองจะจัดกิจกรรมที่สถาบันราชประชาสมาสัย พระประแดง สมุทรปราการ และนิคมโรคเรื้อน 12 แห่งทั่วประเทศซึ่งจะมีความยิ่งใหญ่ และพิเศษกว่าทุกๆปี เพื่อประกาศความสำเร็จของการดำเนินงาน ให้ประชาชนทั่วไปมั่นใจได้ว่า “โรคเรื้อนไม่ร้ายอย่างที่คิด หายสนิทหากรีบรักษา” และ “รักษาแต่ต้นจะพ้นอันตราย โรคเรื้อนจะหาย ร่างกายไม่พิการ”