นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ก.เขตห้วยขวาง ในฐานะประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากทม. และคณะ ประชุมเพื่อรับทราบการดำเนินงานเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างและเปิดใช้อาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานครของสำนักการโยธา โดยมีเจ้าหน้าที่จากกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธาเข้าชี้แจง ณ ห้อง 2 สภากรุงเทพมหานคร
ในที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้พบว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตามความต้องการของผู้ประกอบการ สาเหตุเกิดจากสถาปนิคออกแบบอาคารไม่ตรงไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด ทำให้ต้องนำกลับไปแก้ไขจึงทำให้เกิดความล่าช้าในการให้ใบอนุญาต รวมทั้งการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ในการออกใบอนุญาตอาคาร ประเภท อาคารสูง ระยะร่นของตัวอาคาร โดยพบว่ามีการก่อสร้างอาคารผิดแบบที่ได้มีการเสนอยื่นเพื่อขออนุญาตไป ซึ่งผู้ประกอบการบางรายได้ทำการยื่นความจำนงเพื่อขอแก้ไขแบบ ทั้งนี้คณะกรรมการฯตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ควรกำชับและตรวจสอบการดำเนินงานก่อสร้างอาคารให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบลักลอบก่อสร้างอาคารผิดจากแบบอาคารที่ได้มีการยื่นขออนุญาตไว้โดยจะต้องแจ้งให้เจ้าของอาคารทำการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนให้ตรงตามแบบที่มีการยื่นขออนุญาตไว้
จี้เขตตรวจสอบอาคารและสถานบันเทิงผิดกฏหมาย
ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการฯได้กำชับไปยัง 50 เขต รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลสถานบันเทิงและอาคารที่ผิดอนุญาต รวมทั้งก่อสร้างไม่ตรงตามแบบที่ได้มีการขออนุญาต โดยขณะนี้ยังมีอีก 10 เขตที่ยังไม่ได้ทำการายงานเข้ามา โดยคณะกรรมการฯจะทำการพิจารณาจากข้อมูลที่สำนักงานเขตส่งสถิติข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินงานและประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานในภาพรวมต่อไป ซึ่งภายหลังการพิจารณาจะทำการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อคอยตรวจสอบและเร่งรัดให้เจ้าของอาคารหรือผู้ประกอบการทำการแก้ไขต่อไป
กระตุ้นผู้บริหารทำงานต่อเนื่อง ทั้งกำชับ 50 สำนักงานเขตสำรวจอาคารทิ้งร้าง
ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวต่อว่า เนื่องจากปัจจุบันตามพื้นที่ในกรุงเทพมหานครพบว่า มีอาคารที่ถูกทิ้งร้างอยู่หลายแห่ง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการต่อได้เพราะประสบสภาวะทางการเงิน ถูกอายัด ฟ้องล้มละลาย และอาคารบางแห่งกำลังถูกขายทอดตลาด จึงเห็นควรให้ผู้บริหารมอบหมายให้สำนักงานเขต 50 เขต ทำการสำรวจอาคารที่ถูกทิ้งร้างในพื้นที่ของตนอย่างละเอียด เพื่อที่คณะกรรมการฯจะได้นำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดในประโยชน์ที่กรุงเทพมหานครจะสามารถเข้าไปพัฒนาอาคารและพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้จากปัญหาที่ผ่านมา อาคารที่ถูกทิ้งร้าง ถือเป็นจุดเสี่ยงภัย และเป็นจุดเปลี่ยวยามค่ำคืนแก่ประชาชนผู้สัญจรในบริเวณดังกล่าว อีกทั้งเป็นแหล่งซ่องสุมก่อให้เกิดอาชญากรรมต่างๆ ดังนั้นผู้บริหารควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ในการเข้าไปพัฒนาพื้นที่รกร้างบริเวณอาคาร รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง ขาดไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้จะเป็นการดำเนินการป้องกันอย่างต่อเนื่องในเชิงนโยบายที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย