ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ประกาศผลการดำเนินงานก่อนการสอบทานสำหรับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 688 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 30.9 จากกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 526 ล้านบาท และดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 3,991 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ยังเป็นไตรมาสแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่ TMB มีเงินให้สินเชื่อเติบโตเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 เป็นจำนวน 6,368 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 1.8
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการกลับมามีผลกำไรอย่างยั่งยืนของธนาคาร ซึ่งเป็นผลจากความพยายามอย่างยิ่งยวดของผู้บริหารและพนักงานในการปรับเปลี่ยนให้ TMB เป็นองค์กรที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้จนการดำเนินการด้านต่างๆ ตามโครงการ TMB Transformation ซึ่งได้แก่ การปรับโครงสร้างองค์กร, การปรับปรุงสาขาเพื่อการบริการที่เป็นเลิศ, การปรับกระบวนการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ (end-to-end process), การจัดทำ Human Resources Transformation และการยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยง ได้ส่งผลอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้ TMBเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง”
นายบุญทักษ์ กล่าวด้วยว่า เขาเชื่อมั่นว่า TMB จะสามารถรักษาความสามารถในการดำเนินงานที่ดีต่อไปในปี 2553 เนื่องจากผลดีที่เกิดจากโครงการ TMB Transformation ดังกล่าว และการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจของปีนี้ซึ่งมีแนวโน้มเชิงบวก
ในปี 2552 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,044 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 400 จากปี 2551 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 424 ล้านบาท คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับปรุงดีขึ้นตลอดปี 2552 สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12.7 ในปี 2552 เมื่อเทียบกับร้อยละ 14.3 ของปีก่อนหน้า และ ณ สิ้นปี 2552 ธนาคารและมีบริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพรวม 54,095 ล้านบาท ลดลงจาก 69,777 ล้านบาท ในปี 2551 สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPA) ณ สิ้นปี 2552 ลดลงเหลือ 11,132 ล้านบาท จาก 19,260 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2551 และสัดส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อสินทรัพย์รวม (NPA ratio) ณ สิ้นปี 2552 ลดลงเหลือร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับร้อยละ 3.2 ในปี 2551 โดยเป็นผลเนื่องจากจากการการขายสินเชื่อและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 20,000 ล้านบาท ออกไปในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ตลอดจนความสำเร็จในการแก้หนี้ของสินเชื่อด้อยคุณภาพรายใหญ่ และความพยายามของธนาคารอย่างต่อเนื่องในการยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยง
การดำเนินการต่างๆ ภายในโครงการ TMB Transformation มีบทบาทสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผลดำเนินงานของธนาคารในปี 2552 ซึ่งในส่วนของโครงการ Branch Transformation ในไตรมาสที่ 1 ของปี ช่วยให้ธนาคารสามารถมุ่งเน้นในแต่ละกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มส่งผลดีต่อธุรกิจรายย่อยของธนาคารตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 และในไตรมาสที่ 4 สำหรับลูกค้า SMEs และ ธุรกิจขนาดใหญ่
ธนาคารยังมุ่งเน้นในการยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงตลอดทั้งปี 2552 ซึ่งได้แก่การจัดชั้นสินเชื่อที่เข้มงวด การนำมาตรฐาน IFRS มาใช้ในการตั้งสำรอง และระบบการจัดอันดับสินเชื่อใหม่ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
TMB ได้ซื้อคืนตราสารหนี้กึ่งทุน (Hybrid Bond Tier 1) ที่ออกในต่างประเทศจำนวน 152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 และมีการออกตราสารหนี้กึ่งทุนในประเทศ (TMB-IT1) จำนวน 4,000 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกัน ซึ่งธุรกรรมทั้งสองนี้ เป็นโอกาสในการทำกำไรในเชิง arbitrage ทำให้ธนาคารสามารถบันทึกกำไรพิเศษเป็นจำนวน 3,175 ล้านบาท และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานเงินกองทุนของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารได้นำกำไรพิเศษทั้งหมดนี้ไปใช้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 TMB ได้ดำเนินการตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดโดยสมัครใจ เพื่อปรับโครงสร้างพนักงานสำหรับการเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง และเปิดโอกาสให้พนักงานที่ไม่สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมีทางเลือกใหม่ โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการนี้ 1,292 ล้านบาท ซึ่งได้มีการรับรู้ค่าใช้จ่ายไปแล้วในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จำนวน 850 ล้านบาท
นายบุญทักษ์กล่าวด้วยว่า “การดำเนินการต่างๆ ตามโครงการ TMB Transformation ประกอบกับการร่วมมือกันทำงานอย่างหนักและอุทิศตนของพนักงาน ทำให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ดีในปีที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ และในขณะนี้ ธนาคารมีสถานะที่แข็งแกร่ง พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปในปี 2553”
TMB ยังคงรักษาความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่องที่สูง และมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อยอดเงินฝาก ที่ร้อยละ 85.9 ณ เดือนธันวาคม 2552 จากร้อยละ 89.9 ในเดือนธันวาคม 2551 โครงสร้างเงินฝากของธนาคารดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบัน มีสัดส่วนบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) ร้อยละ 49.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.7 ในปี 2551 โดยเป็นผลมาจากกลยุทธ์ของธนาคารที่มุ่งเน้นเงินฝากเป็นสำคัญ (Deposit-led Strategy) และการริเริ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการทำธุรกรรม อาทิเช่น “no fee savings account” และ “no limit debit card” เป็นต้น
ปัจจุบัน TMB มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ร้อยละ 17.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.9 ในปี 2551 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.5
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจและธุรกิจอื่นๆ เช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายประกัน
TMB มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าประเภทต่างๆ ผ่านเครือข่ายสาขารวมทั้งสิ้น 4,487 สาขา สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน 102 แห่ง เครื่องเอทีเอ็มจำนวน 2,195 เครื่อง รวมทั้งให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
TMB เป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์รวม 550,534 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 ก.ย. 52) นับเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเป็นอันดับหกในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย
www.tmbbank.com
สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร
รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02 299 1950, 1953/ 02 242 3260