ในอนาคต ระบบต่าง ๆ ภายในอาคารจะทำงานเชื่อมโยงประสานกันแบบรวมศูนย์ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการสำนักงาน อพาร์ทเมนต์ บ้าน คลังสินค้า และโรงงานทุกประเภท จะทำงานได้ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อปกป้องผู้คนที่พักอาศัยหรือทำงานภายในอาคารให้มีความปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยประหยัดทรัพยากร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว
? ในอนาคต อาคารเก่าที่มีมาอยู่แต่เดิมจะได้รับการบูรณะปรับปรุง ในขณะที่อาคารสมัยใหม่ จะได้รับการพัฒนาด้วยระบบประหยัดพลังงานที่เชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำงานเชื่อมโยงร่วมกันได้อย่างชาญฉลาด
? ทุกสิ่งภายในอาคาร ตั้งแต่เรื่องของอุณหภูมิ ไฟฟ้า การระบายอากาศ ไปจนถึงการจัดการระบบน้ำ การจัดการขยะ ระบบโทรคมนาคม และระบบรักษาความปลอดภัย จะมีการผนวกรวมเข้าด้วยกันเพื่อการบริหารจัดการและควบคุมที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
? เซนเซอร์หลายพันตัวภายในอาคารจะควบคุมตรวจสอบทุกสิ่งภายในอาคาร ตั้งแต่ความเคลื่อนไหวและอุณหภูมิ ไปจนถึงความชื้น การเข้าใช้พื้นที่ และแสงสว่าง
? อาคารต่างๆ จะไม่ได้เพียงอยู่ร่วมและทำงานเกี่ยวโยงกับธรรมชาติ แต่จะมีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเหมาะสมอีกด้วย
? ระบบอัจฉริยะภายในอาคารจะช่วยเตือนให้การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ สามารถทำได้ก่อนที่จะเกิดการชำรุดเสียหาย นอกจากนั้น ระบบดังกล่าว ยังช่วยให้หน่วยฉุกเฉินสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างฉับไว อีกทั้งเจ้าของและผู้ใช้งานภายในอาคารยังสามารถตรวจสอบระดับการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอาคารได้ในแบบเรียลไทม์ และดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที
ปัจจุบัน อาคารบางแห่งได้มีการใช้ระบบอัจฉริยะบ้างแล้ว ด้วยการใช้ระบบที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้พื้นที่ภายในอาคาร ตัวอย่างเช่น:
โรงแรมไชน่า หังโจว ดราก้อน (China Hangzhou Dragon Hotel) ที่ได้ไว้วางใจให้ไอบีเอ็มพัฒนาระบบจัดการโรงแรมที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันอย่างอัจฉริยะ โดยการพัฒนาระบบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปโรงแรมให้โรงแรมกลายเป็น “โรงแรมอัจฉริยะ” ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ไอบีเอ็มจะผนวกรวมระบบสำคัญๆ ของทางโรงแรม เช่น ระบบบริหารจัดการโรงแรม ระบบสื่อสาร และศูนย์บริการแบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมอุปกรณ์พีดีเอ, ตู้บริการเช็คอิน, โทรทัศน์แบบอินเทอร์แอคทีฟ, ระบบป้ายระบุโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification - RFID), โทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์มือถือ และระบบควบคุมห้องพัก ให้ทำงานอย่างประสานกัน
อาคารเซเว่น เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (7 World Trade Center) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งหมด 52 ชั้นและเปิดใช้งานเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการ ”อาคารสีเขียว” ของสหรัฐฯ และหน่วยงานอื่นๆ ว่าเป็น ”อาคารสีเขียว” แห่งแรกของนิวยอร์กซิตี้ อาคารแห่งนี้มีระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ภายในอาคารมากมาย เช่น ระบบการปรับอุณหภูมิภายในอาคารด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบท่อประปาที่มีประสิทธิภาพสูง ระบบกรองอากาศสำหรับปรับปรุงคุณภาพของอากาศภายในอาคาร ระบบอนุรักษ์น้ำสำหรับกักเก็บน้ำฝนเพื่อใช้ในการระบายความร้อนและรดน้ำต้นไม้ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบควบคุมปริมาณแสงไฟ พัดลมที่ปรับความเร็วแบบแปรผัน และเครื่องปั่นไฟจากไอน้ำ เป็นต้น ซึ่งระบบต่าง ๆ นี้เอง ช่วยให้อาคารสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้อย่างมาก
ตัวอย่างอีกประการหนึ่งของการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่แล้วก็คือ อาคารเพอร์รี่ อเวนิว (Perry Avenue Building) ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์อุตสาหกรรมสีเขียวแบบหลายชั้นหลังแรกๆ ของสหรัฐฯ โดยตั้งอยู่ที่เขตบรู๊คลิน นาวาล ยาร์ด (Brooklyn Naval Yard) และเปิดใช้งานเมื่อปี 2552 อาคารแห่งนี้ประกอบด้วยกังหันลมสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไว้บนหลังคา และวัสดุปูหลังคาแบบสะท้อนแสงซึ่งช่วยลดอุณหภูมิที่พื้นผิว นอกจากนี้ยังมีการนำเอาน้ำฝนไปใช้ในห้องน้ำ และมีที่จอดรถพิเศษสำหรับรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไป และฟังก์ชั่นการทำงานทั้งหมดภายในอาคารแห่งนี้ได้รับการผนวกรวม จัดการ และตรวจสอบดูแลโดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เป็นต้น