นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลอดปี 2552 กลุ่มทิสโก้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและสามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ อีกทั้งได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ฟอร์ด มาสด้า และวอลโว่ มีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มทิสโก้ ยังได้เข้าซื้อลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทจีเอ็มเอซี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 1,750 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 และกลุ่มทิสโก้ยังได้ลงนามในข้อตกลงทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อ แก่ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floor Plan) ในเครือฟอร์ด มาสด้า วอลโว่ และเชฟโรเลต ทั่วประเทศอีกด้วย
“การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในปี 2553 นี้ นับว่าเป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากความไม่แน่นอนในด้านเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ แต่ด้วยความคล่องตัวขององค์กรและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ทำให้เชื่อว่าธุรกิจของทิสโก้จะยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อเป็นตัวหลัก ส่วนการเข้าซื้อกิจการนั้นยังคงเปิดกว้างตามความเหมาะสม”
ด้านนางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2552 ของกลุ่มทิสโก้ ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,004.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,714.14 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิมีจํานวน 5,980.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,819.27 ล้านบาท หรือ 43.7% จากปีก่อน และมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลัก จำนวน 2,863.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วจำนวน 506.58 ล้านบาท หรือ 21.5% ขณะที่กำไรสุทธิของไตรมาส 4/2552 อยู่ที่ 520 ล้านบาท
ทั้งนี้กลุ่มทิสโก้สามารถเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อจาก 3.7% เป็น 5.0% เมื่อเทียบกับปี 2551 จากความสามารถในการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์และหนี้สิน ให้สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย โดยกลุ่มทิสโก้มีกลยุทธ์ในการขยายตัวในธุรกิจสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ในขณะที่ต้นทุนเงินทุนลดลงตามภาวะอัตราดอกเบี้ยของตลาดและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อย
เงินให้สินเชื่อของกลุ่มทิสโก้ ณ สิ้นปี 2552 มีจำนวน 113,232.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น10,123.27 ล้านบาท หรือ 9.8% จากสิ้นปี 2551 ตามการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย โดยเมื่อรวมสินเชื่อที่บันทึกเป็นเงินลงทุนแล้ว เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 ทั้งนี้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อของทั้งกลุ่ม แบ่งออกเป็น สินเชื่อรายย่อย 77.8% สินเชื่อธุรกิจ 17.1% และสินเชื่ออื่นๆ 5.1%
สินเชื่อรายย่อยประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์และอื่นๆ 98.3% และสินเชื่อเพื่อการเคหะ 1.7% โดยมูลค่าของสินเชื่อเช่าซื้อ มีจํานวน 86,632.18 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9,345.07 ล้านบาท หรือ 12.1 เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่อนุมัติใหม่ในปี 2552 มีจำนวน 41,975.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 526.27 ล้านบาท หรือ 1.3% เมื่อเทียบกับปี 2551 ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในประเทศงวด 11 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 476,787คัน ลดลง 14.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 555,078 คัน ส่งผลให้อัตราปริมาณการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ของกลุ่มทิสโก้ต่อปริมาณการจําหน่ายรถยนต์ใหม่เฉลี่ย(Penetration Rate) ใน 11 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 12.2% ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2551 ที่ 10.2%
เงินฝากรวมมีจำนวน 110,507.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,916.38 ล้านบาท หรือ 9.9% จากสิ้นปี 2551 ตามการขยายตัวของฐานเงินฝากออมทรัพย์และเผื่อเรียกเป็นผลจากการที่ ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากในรูปแบบที่หลากหลายโดยสัดส่วนเงินฝากประเภทเงินฝากออมทรัพย์และเผื่อเรียกต่อยอดเงินฝากอยู่ที่ระดับเดียวกับไตรมาสที่แล้ว คิดเป็น 22.9% เทียบกับ 11.5% ณ สิ้นปี 2551
กลุ่มทิสโก้ใช้วิธีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ตามหลักเกณฑ์ Basel II ด้วยวิธี Collective Approach ซึ่งจะตั้งสำรองตามประมาณค่าความสูญเสียที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 12 เดือนข้างหน้า (Expected Loss) จากพอร์ตสนเชื่อดังกล่าว โดยกลุ่มทิสโก้จะต้องตั้งสำรองเป็นจำนวน 1,082.62 ล้านบาท คิดเป็น 1.0% ของสินเชื่อทั้งหมดซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปี 2551 อันเนื่องมาจากคุณภาพของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากระดับ NPL ที่ปรับตัวลดลงจาก 2.9% เป็น 2.5% ในขณะที่ผลขาดทุนจากการขายรถยึดก็ลดลงตามการคลี่คลายของภาวะราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในภาวะฟื้นตัว และยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการเช่น ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ที่ยังคงมีความผันผวน กลุ่มทิสโก้จึงได้ตัดสินใจที่จะตั้งสำรองทั่วไปเพิ่มขึ้นอีก 461.26 ล้านบาทในปี 2552 ทำให้มีสำรองส่วนเกิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ทั้งสิ้นเป็นจำนวน 727.85 ล้านบาท เพื่อรองรับกับความผันผวนของปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2552 ธนาคารทิสโก้ได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในด้านของเงินฝาก ซึ่งได้ทำการนำเสนอผลิตภัณฑ์ “บัญชีเงินฝากซุปเปอร์ออมทรัพย์” ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 1.50% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่สูงสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งยังได้ทำการขยายวงเงินรับฝากจากเดิมไม่เกิน 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น ไม่เกิน 10 ล้านบาท ทำให้ผู้ฝากเงินมีทางเลือกในการออมที่ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ตลอดปี 2552 ธนาคารทิสโก้ได้เปิดสาขาใหม่ทั้งสิ้น 9 สาขา และมีสาขารวมทั้งหมด 42 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าและเพิ่มปริมาณธุรกิจในการระดมเงินฝากและการปล่อยสินเชื่อให้แข็งแกร่งขึ้น และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าของธนาคารที่เพิ่มขึ้น
“สำหรับการดำเนินงานในปี 2553 นี้ ทางธนาคารทิสโก้จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบถ้วน และจากการเพิ่มสายงาน Wealth Management ในช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้ในปีนี้เราจะมุ่งเน้นการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ที่จะคอยให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในทุก ๆ ด้านอย่างเต็มตัว โดยได้มีการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญไว้คอยบริการในทุกสาขาของธนาคารทิสโก้แล้ว นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนเครื่อง TISCO ETM (e-Money ATM) อีกกว่า 100 เครื่อง กระจายทั่วประเทศ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เสาวนีย์ สันทบ, ชลิตา ตันตยานนท์
ฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
โทร. 02 633 6906, 6909