ทั้งนี้บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เด็กๆผลัดกันต่อคิวดูภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ กระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่สัมผัสที่ 1 และเคลื่อนตัวบังดวงอาทิตย์มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 58 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์ในเวลา 15.37 น จากนั้นดวงจันทร์ค่อยๆเคลื่อนออกจนสิ้นสุดในเวลา 16.58 น.
“น้องปู้ปู่” หรือ ด.ช.พีระนันท์ ฤกษ์โสภา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์รังสิต กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาร่วมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา ที่ผ่านมาเคยเห็นผ่านโทรทัศน์และหนังสือเท่านั้น เมื่อได้เห็นของจริง มันสวยกว่ากันเยอะมากเลย ได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่าดวงจันทร์ที่มาบังดวงอาทิตย์เป็นอย่างไร
ด้าน “น้องมีน” หรือ ด.ญ.ขวัญข้าว กิริยากิจ นักเรียนชั้นมัธมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกทีได้มาชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา แม้จะเห็นแค่บางส่วนก็ดีใจมาก และหวังว่าจะมีโอกาสเห็นสุริยุปราคาของจริงสักครั้ง
“ดีใจที่ได้เห็นของจริงค่ะ รู้สึกตื่นเต้นมากตอนที่ดวงจันทร์ค่อยๆเคลื่อนที่บังดวงอาทิตย์ ลุ้นมากอยากให้บังเยอะๆ ทำให้เข้าใจจากสิ่งที่เราเคยเรียนมากขึ้น เดิมเคยสงสัยว่าสุริยุปราคาเกิดจากการที่ดวงจันทร์และโลกโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ เรียงตัวกันเป็นเส้นตรง แล้วทำไมเราจึงไม่เห็นทุกปี แต่พอได้ฟังวิทยากรบรรยายว่า ความจริงวงโคจรของดวงจันทร์เอียงทำมุม 5 องศา กับวงของโคจรของโลก โอกาสที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกจะอยู่ในระนาบเดียวกันจึงไม่เกิดขึ้นทุกเดือน”
ขณะที่ “น้องใบหม่อน” หรือ ด.ช.โภคิน ชัยวิวัฒน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การได้มาชมสุริยุปราคานอกห้องเรียน ไม่เพียงเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่ยังทำให้ได้รับความรู้มากขึ้นด้วย
“การได้เห็นของจริง ไม่เพียงให้เรามีความรู้ ความเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น แต่ยังทำให้ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่นว่า การที่ประเทศไทยไม่สามารถเห็นสุริยุปราคาได้ทุกครั้ง ก็เพราะดวงจันทร์มีขนาดเล็กและโลกหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้เงาของดวงจันทร์ทาบไปยังพื้นโลกไม่ซ้ำที่กัน โอกาสที่เราจะเห็นสุริยุปราคาในประเทศไทยจึงมีไม่มากนัก ฉะนั้นการได้มาชมครั้งนี้จึงเป็นความโชคดีอย่างยิ่งครับ”
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเพียงชั่วพริบตา แต่กลับต่อเติมความรู้และจินตนาการให้เด็กๆได้ไม่รู้จบ