กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
จีนกับระบบการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ
มีความเป็นไปได้ที่จีนจะจัดทำแผนปฏิรูปการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ ขึ้นใหม่ หลังจากที่มีการรอคอยเป็นเวลานาน เนื่องจากความด้อยประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการแบบเก่า
เลแมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลกชี้ว่า ในปัจจุบันจีนใช้ระบบบริหารจัดการ
เงินตราต่างประเทศ โดยมีองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ระบบโควตาแบบคงที่(fixed-quota system) กลไกกำหนดราคาแบบผูกขาด (monopoly price-setting mechanism) และอัตราลอยตัวค่าเงินในช่วงแคบ (narrow floating band) ซึ่งภายใต้ระบบดังกล่าว ทำให้บริษัทส่งออกและธนาคารพาณิชย์ของจีนได้รับอนุญาตให้สำรองเงินตราต่างประเทศไว้ได้จำนวนหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 30 ของรายได้ในสกุลเงินตราต่างประเทศในปีที่ผ่านมา ซึ่งหากการถือครองเงินตราต่างประเทศสูงกว่าโควต้าคงที่ที่กำหนดไว้ บริษัทผู้ส่งออกเหล่านี้ต้องนำเงินตราต่างประเทศส่วนที่เกินโควต้าออกจำหน่ายที่ศูนย์การซื้อขายระหว่างธนาคารในเมืองเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ธนาคารประชาชนจีนหรือธนาคารกลางของจีนจะทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดราคาตลาด รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ ตามกลไกกำหนดราคาแบบผูกขาด นอกจากนี้ ธนาคารกลางของจีนยังอนุญาตให้มีการซื้อขายภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนลอยตัวในระดับแคบๆ (+/- ร้อยละ 0.3) ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ระบบที่ไร้ความมั่นคง
ระบบบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศที่ใช้อยู่ในขณะนี้จัดทำขึ้นในช่วงที่ตลาดเงินของจีนยังมีขนาดเล็กและอยู่ในระบบปิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนอกเขตประเทศจีนในระดับจำกัด แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจของจีนเปิดกว้างและทวีความสำคัญมากขึ้นในระดับโลก ทำให้พบปัญหาและอุปสรรคของระบบดังกล่าวอย่างเด่นชัดมากขึ้น
ปัญหาประการแรก คือ ระบบโควต้าแบบคงที่ เป็นระบบที่จำกัดการถือครองเงินตราต่างประเทศ
ของบริษัทจีน ทั้งยังกำหนดให้ธนาคารกลางของจีนเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศที่เป็นส่วนเกินทั้งหมด
จากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ นั้นอาจช่วยให้รัฐบาลสามารถควบคุมการไหลออกของเงินทุน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤติทางการเงินในช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวได้ดี แต่สำหรับประเทศที่มีการเติบโตทางการส่งออกที่แข็งแกร่งและมีการไหลเข้าของเงินทุนจำนวนมาก ระบบโควต้าแบบคงที่อาจส่งผลให้ปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางของจีนเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็น ซึ่งสภาวการณ์ในทำนองนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2547 เมื่อประเทศจีนมีเงินลงทุนจากต่างประเทศ (foreign direct investment : FDI)มูลค่า 60,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนมูลค่าการส่งออกสูงถึง 593,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศดีดตัวพุ่งขึ้นจาก 206,600 ล้านเหรียญ -สหรัฐในปี 2546 เป็น 606,900 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอย่างรวดเร็ว นอกจากจะเป็นสิ่งท้าทายธนาคารกลางของจีนในการบริหารจัดการเงินทุนสำรองต่างประเทศแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของนานาประเทศและก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางการค้าอีกด้วย
ประการที่สอง การใช้กลยุทธ์กำหนดราคาแบบผูกขาดของธนาคารประชาชนจีนส่งผลให้มีเงินที่เก็บสะสมไว้ด้อยค่ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีการเก็งกำไรในตลาดกันมากขึ้น ในปีที่ผ่านมา ทุนสำรองที่เพิ่มสูงขึ้น 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นผลจากการค้าเกินดุลและการไหลเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่เงินส่วนเกินอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุได้ รัฐบาลจีนจึงให้คำนิยามเงินทุนที่ไหลเข้ามาก้อนนี้ว่า “เงินร้อน” (hot money) พร้อมทั้งวิตกว่า อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจที่กำลังร้อนแรงของจีนในขณะนี้
ประการที่สาม ความมุ่งมั่นของธนาคารกลางของจีนที่จะรักษาอัตราลอยตัวค่าเงินในช่วงแคบ ทำให้เกิดช่องทางในการเปลี่ยนเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศเป็นรูปของเงินสดและสินเชื่อโดยอัตโนมัติแทน
การปฏิรูปที่จะมีขึ้นในอนาคต
ในปีนี้รัฐบาลจีนได้ประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้มี
ความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น แต่ยังคงรักษาเสถียรภาพขั้นพื้นฐานของสกุลเงินเรนเมนบิของจีนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสมดุลมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้แสดงท่าทีที่จะขยายหรือยกเลิกข้อจำกัดของโควต้า รวมทั้งอาจอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทส่งออกของจีนสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารกลางของจีนอาจยกเลิกข้อกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง โดยใช้ระบบใหม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น แทนระบบกำหนดราคาแบบผูกขาด ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทในการกำหนดราคามากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลประกาศยืนยันที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเรนเมนบิอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่า อัตราลอยตัวค่าเงินในช่วงแคบยังไม่มีแนวโน้มที่จะขยายกว้างขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปฏิรูประบบการค้าเงินเรนเมนบิขึ้นในปี 2548 แต่คาดว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในระดับต่ำ กล่าวคือ ค่าเงินเรนเมนบิอาจแข็งค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ภายในปลายปี 2548 เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของจีนอาจยกเลิกกำหนดเวลาการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน หากมีการ
คาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกว่า จีนจะดำเนินการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน การเลือกช่วงเวลาที่ดีถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เนื่องจากจะเป็นการทดสอบทักษะการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลในการสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจระดับมหภาค ทั้งยังบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการปฏิรูประบบธนาคาร แม้กระนั้นก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการคือ การสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดโดยรวม นอกจากนี้ การกำหนดช่วงเวลายังถือเป็นศิลปะทางการเมืองอีกด้วย โดยจะท้าทายความสามารถของผู้นำในการถ่วงดุลความต้องการของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเลแมน บราเดอร์ส คาดว่า จีนอาจประกาศแผนการปฏิรูปดังกล่าวในการประชุมระดับประเทศ หรือการประชุมผู้นำระดับโลก หรือในระหว่างการเยือนสหรัฐเมริกา หรือในระหว่างที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเยือนจีน--จบ--
- พ.ย. ๒๕๖๗ กลุ่มทรู จัดแคมเปญ “Together Forever” เอาใจคู่รัก รับวันวาเลนไทน์ ชวนคู่หวานเปิดเบอร์ใหม่เสริมดวงความรัก จากทรูมูฟ เอช พร้อมรับฟรี บัตรภาพยนตร์True 4DX มูลค่า 1,200 บาท
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: กรมการค้าภายในเยี่ยมชมกิจการ “ร้านติดดาว” โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตร้านค้าปลีกของกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์
- พ.ย. ๒๕๖๗ ประเทศไทยจัดงานประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ใช้ Live Streaming ถ่ายทอดสดการประชุมเป็นครั้งแรกแก่บุคลากรทางการแพทย์