จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าพื้นที่น้ำต่างๆ นั้น อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะบริเวณที่แม่น้ำสายหลักตอนล่างที่ไหลผ่านชุมชนขนาดใหญ่ ในบางเขตมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฟาร์มสุกร และการเพาะเลี้ยงต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นต่อไป โดยคณะ อนุกรรมาธิการจะดำเนินการตรวจสอบและเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
โดยคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้นำตัวอย่างตะกอนดินและปริมาณน้ำเสียบางพื้นที่มาแสดงให้เห็นว่าของเสียต่างๆ เมื่อระบายลงสู่แหล่งน้ำส่วนหนึ่งก็จะเจือปนในน้ำ และอีกส่วนหนึ่งจะสะสมในตะกอนดิน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำและการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำด้วย เช่น กรณีของคลองชากหมาก อำเภอมาบตาพุด ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเป็นปัญหาที่รัฐบาลกำลังรีบเร่งแก้ไขในขณะนี้ คลองชากหมากไหลผ่านพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งตะกอนมีสีดำจากการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ โลหะหนักบางชนิด และสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน รวมทั้งได้มีการปิดพื้นที่จากการถมทะเล ทำให้ไม่มีการถ่ายเทเป็นเหตุให้ปริมาณของเสียสะสม ประเมินว่าปริมาณตะกอนดินสูงถึง 300,000 ตัน ที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสากรรม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดระยองยังมิได้เข้ามาดูแลอย่างเป็นระบบ ซึ่งทางคณะ อนุกรรมาธิการจะเร่งติดตามและดำเนินการเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ตามวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
ในกรณีคลองแสนแสบคงทราบว่าปัญหาน้ำเน่าเสียเกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว น้ำมีลักษณะสีดำ กลิ่นเหม็น อ็อกซิเจนละลายน้ำต่ำ เกิดการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่เกิดจากสิ่งปฏิกูลขับถ่ายของมนุษย์สูงมาก บางช่วงสัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และมีการตกสะสมของตะกอนสีดำ บางช่วงน้ำสะสมก่อให้เกิดสภาพไร้อ็อกซิเจน จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขในการก่อสร้างระบบน้ำเสียให้คลอบคลุมเต็มพื้นที่
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ :
สว.จิราวรรณ จงสุทธนามณี วัฒนศิริธร ประธานคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
สำนักกรรมาธิการ 1 กลุ่มงานคณะกรรมาธิการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายการุณย์ พิมพ์สังกุล [email protected]
โทรศัพท์ 0-2831-9163 โทรสาร 0-2831-9146
www.senate.go.th