อาจารย์จุฬาฯ หยิบผลวิจัยนม ร.ร. จี้รัฐขจัดนายหน้า-มาเฟียนมออกจากระบบ

พฤหัส ๒๑ มกราคม ๒๐๑๐ ๑๕:๕๔
ย้ำชัดถึงเวลาปฏิรูประบบการบริหารจัดการนมโรงเรียนใหม่ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ยันมติครม 15 ธ.ค. 2552 ให้ อ.ส.ค.เป็นองค์กรกลางทำสัญญาขายนมกับหน่วยงานจัดซื้อทั่วประเทศ แก้ไม่ถูกจุด ปิดช่องโหว่แก้ปัญหาการกินหัวคิวไม่ได้

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานการประชุมปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล ครั้งที่ 26 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนักวิชาการทรงคุณวุฒิ ทำงานในนามสถาบันเครือข่ายทางปัญญาร่วมประชุม โดยนายนพนันท์ วรรณทพสกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอการประเมินนโยบายของรัฐกรณีนมโรงเรียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก ป.ป.ช. ทั้งนี้ พบว่า โครงสร้างและเครือข่ายการบริหารจัดการนมโรงเรียนมีปัญหามีการทุจริต จนทำให้การจัดบริการสวัสดิการนมมีความเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายโครงการ

นายนพนันท์ กล่าวว่า นมโรงเรียนเป็นนโยบายสาธารณะได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 จากที่สินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรขายผลิตผลไม่ได้ราคา รัฐบาลจึงส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์การเลี้ยงโคนม โดยคาดว่า น่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ตอบแทนระยะยาว อีกทั้งต้องการพัฒนาสุขภาพพลานามัยของนักเรียน จึงปลูกฝังการดื่มนมในเด็กและเยาวชน ปัจจุบันก็ยังยึดวัตถุประสงค์เดิมอยู่ มีการขยายจำนวนเด็กนักเรียนไปถึงชั้นประถมปีที่ 6 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไม่ให้เกิดปัญหานมดิบล้นตลาด ซึ่งเป็นปัญหามีมาต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ

สำหรับงบประมาณการจัดซื้อนมโรงเรียนนั้น นายนพนันท์ กล่าวว่า ปี 2537 งบประมาณจัดซื้อนมโรงเรียน แค่ 1,200 ล้านบาท จนปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 13,595 ล้านบาทแล้ว จำนวนเด็กก็ขยายจากชั้นเรียนอนุบาลถึงชั้นป.6 มีเด็กที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ นี้ถึง 8.4 ล้านคน ขณะที่หน่วยงานจัดซื้อมอบหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงปัญหานมโรงเรียนที่วิจัยพบ มีทั้งนมล้นตลาดเป็นวัฎจักร มีข่าวอื้อฉาวการฮั้วประมูลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหานมปลอมปน นมไม่ได้มาตรฐาน การโซนนิ่งแบ่งพื้นที่ขายซึ่งเข้าข่ายการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเมื่อมีการยกเลิกโซนนิ่งก็ทำให้เกิดการแข่งขันตัดราคา รวมทั้งเกษตรกรหาแหล่งการรับซื้อน้ำนมดิบไม่ได้

“ปัญหาการทุจริตนมโรงเรียน พบการจัดซื้อของหน่วยงานราชการไม่โปร่งใส มาเฟียนม การจัดสรรสิทธิจำหน่ายไม่โปร่งใส โรงนมบางแห่งไม่มีใบอนุญาต อย./กรมโรงงานอุตสาหกรรมแต่ได้โควตา ซื้อน้ำนมดิบน้อยใช้นมผงหรือหางนมปลอมปน ทำให้นมด้อยคุณภาพ และนมกระดาษที่มีสัญญาซื้อขายแต่ไม่มีการส่งมอบจริง” นายนพนันท์ กล่าว และว่า ปี 2552 เป็นปีที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ได้ดี เพราะมีการเปลี่ยนแปลงระบบนมโรงเรียน เกิดปัญหาทุจริตฮั้วประมูล สมยอมแบ่งเขตพื้นที่ และนมล้นตลาดจนรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกระบบโซนนิ่ง เพิ่มงบประมาณอุดหนุนให้อปท. ปรับเพิ่มจำนวนวันการดื่มนม เป็นต้น

เมื่อดูความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการปลอมปนนมผง ผู้ทำการวิจัยโครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดนมและผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า ตัวเลขปี 2550 จากงบประมาณนมโรงเรียน 6,750 ล้านบาท มูลค่าปลอมปนนมผง 2,300-4,650 ล้านบาท โดยกระจายส่วนแบ่งผลประโยชน์ไปยังผู้จัดฮั้ว 100 ล้านบาท ผู้สมยอมราคา 100 ล้านบาท ผู้จัดซื้อ 315 ล้านบาท ผู้จัดจำหน่าย 860 ล้านบาท ขณะที่เกษตรกรได้รับ 230-760 ล้านบาทเท่านั้น

“และหากใช้ตัวเลขปี 2552 งบประมาณนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 13,595 ล้านบาท มูลค่าปลอมปนนมผง 4,750-9,500 ล้านบาท โดยกระจายส่วนแบ่งผลประโยชน์ไปยังผู้จัดฮั้ว 217 ล้านบาท ผู้สมยอมราคา 217 ล้านบาท ผู้จัดซื้อ 650 ล้านบาท ผู้จัดจำหน่าย 1,780 ล้านบาท ขณะที่เกษตรกรได้รับ 475-1,585 ล้านบาท”

นายนพนันท์ กล่าวถึงผลวิจัยใครได้ใครเสียจากนโยบายแทรกแซงตลาดนมและผลิตภัณฑ์ ว่า ผู้ที่ได้คือโรงนมยูเอชที เอเยนต์นม นักจัดฮั้ว อบต. คนที่เสียคือเด็กและเยาวชนดื่มนมด้อยคุณภาพ เกษตรกรพึ่งพาผู้ผลิตผม ไม่มีที่จำหน่ายนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม สุดท้ายรัฐบาลใช้งบประมาณสูญเปล่าเพิ่มขึ้นทุกปี พร้อมเสนอแนะว่า โครงการนมโรงเรียนยังมีความจำเป็นและควรดำเนินการต่อไป แม้จะเกิดเรื่องล้มเหลวมากมาย ซึ่งเกิดจากระบบจัดการระบบบริหารที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ดังนั้นต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการนมโรงเรียนใหม่ให้ได้ผลตรงกับวัตถุประสงค์ โดยเรื่องสำคัญเร่งด่วนคือการขจัดอิทธิพลนายหน้าค้านมและมาเฟียนมออกไปจากระบบ และเปิดโอกาสให้สหกรณ์โคนมเข้ามาร่วมพัฒนาและรับผิดชอบโครงการด้วยตัวเองมาก ขึ้น

ส่วนมติครม.วันที่ 15 ธันวาคม 2552 ที่เห็นชอบในหลักการการปรับปรุงการบริหารจัดการนมโรงเรียน ให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นหน่วยงานกลางทำสัญญาจำหน่ายนมกับหน่วยงานจัดซื้อทั่วประเทศแต่เพียงผู้ เดียวนั้น นายนพนันท์ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา มติครม.ดังกล่าวไม่สามารถตัดช่องทางมาเฟียนมออกจากหน่วยงานกลางตรงนี้ได้ ตราบใดที่ยังไม่มีระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพนมอย่างเหมาะสม จะบริหารจัดการระบบนมแบบไหนก็ตามผลประโยชน์ก็จะไม่ตกไปที่สหกรณ์ เกษตรกร และเด็กนักเรียนแต่อย่างใด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ ก.พ. รฟท. จัดรถไฟส่งผู้ชุมนุมขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ
๒๑ ก.พ. BCPG เผยผลการดำเนินงานปี 2567 กำไรสุทธิกว่า 1,800 ล้านบาท เติบโต 65% จากปีก่อน พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลัง
๒๑ ก.พ. เกรท นำทีมศิษย์เก่า ฟอส-แบงค์ ฉลองครบรอบ 40 ปี ม.รังสิต เปิดตัว คริส หอวัง กับบทบาท ครูผู้ฮีลใจนักศึกษา แห่งสถาบัน
๒๑ ก.พ. ธนาคารกรุงเทพ ประกาศจ่ายเงินปันผล หุ้นละ 8.50 บาท สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2567
๒๑ ก.พ. GULF เคาะแล้ว! อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้อายุ 4-10 ปี ที่ 3.00 - 3.55% ต่อปี พร้อมเสนอขายประชาชนทั่วไป 27-28 ก.พ. และ 3 มี.ค.68 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 10
๒๑ ก.พ. Selena Gomez, benny blanco, Gracie Abrams ส่งเพลงสนุกๆ โดนใจ Gen-Z Call Me When You Break Up การรวมตัวของอเวนเจอร์วงการเพลงป็อปที่ทุกคนรอคอย!
๒๑ ก.พ. MBK Care อาสาทำดี ปันน้ำใจสู่สังคม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ ปีที่ 7 ส่งมอบความสุขเพื่อผู้พิการทางสายตา พร้อมสิ่งของอุปโภคบริโภค
๒๑ ก.พ. บางจากฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของกลุ่มบริษัทบางจาก
๒๑ ก.พ. สวยทุกลุค ชมพู่ - อารยา ถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ของสาว GUESS ในแคมเปญคอลเลกชัน Spring Summer 2025 สีสันแห่งฤดูกาลใหม่
๒๑ ก.พ. วช. เปิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร ต้นแบบการยกระดับประสิทธิภาพภาคการเกษตรของจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ