สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2552 และแผนงาน ThaiBMA ในปี 2553

ศุกร์ ๒๒ มกราคม ๒๐๑๐ ๑๕:๒๘
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยแจงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ในปี 2552 ตลาดตราสารหนี้ไทยคึกคัก เห็นชัดจากภาครัฐ และภาคเอกชนมีการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้อย่างท่วมท้น ควบคู่ไปกับปริมาณการซื้อขายในตลาดรองที่มีปริมาณการซื้อขายปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2552 ว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ใหม่อย่างท่วมท้น ซึ่งหากตัดปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่ของพันธบัตร ธปท. ออก พบว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ในปี 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 21

กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2552 ภาครัฐระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรค่อนข้างมาก เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลจากการระดมทุนสำหรับแผนลงทุนในปีงบประมาณ 2552 ส่งผลให้ปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลใหม่ในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 120 หรือคิดเป็นมูลค่า 501,841.20 ล้านบาท ในขณะที่ภาคเอกชน ทำสถิติใหม่เกินความคาดหมายที่ได้ประมาณการไว้ในช่วงต้นปี 2552 ว่าจะมีหุ้นกู้ออกใหม่เพียง 250,000 ล้านบาท แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งปี 2552 ภาคเอกชนออกหุ้นกู้ใหม่สูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยมูลค่าการออกสูงถึง 390,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 50

โดยปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้มีการออกหุ้นกู้ล้นหลามในปีที่ผ่านมานั้นมาจาก อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจ ส่งผลให้ภาคเอกชนหันมาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2553 ภาครัฐมีแผนการออกตราสารหนี้ภาครัฐอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนเร่งระดมทุนด้วยการหุ้นกู้ในปี 2552 เพื่อเลี่ยงที่จะต้องไปแย่งกลุ่มนักลงทุนกับตราสารหนี้ภาครัฐในปี 2553

ในส่วนของการซื้อขายในตลาดรองตราสารหนี้ นายณัฐพลกล่าวว่า ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในปี 2552 หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พบว่า การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองมีความคึกคักขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ถึงกว่าร้อยละ 39 ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 8,926 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6,418 ล้านบาทต่อวันในปี 2551

“หุ้นกู้ภาคเอกชนมีปริมาณการซื้อขายไม่น้อยหน้าเช่นกัน หลังจากนักลงทุนคลายความกังวลเรื่องเศรษฐกิจลงมาบ้าง และเริ่มแสวงหาตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนหันมาลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ประกอบกับในตลาดแรก ภาคเอกชนออกหุ้นกู้ใหม่ออกมาอย่างคึกคัก ทำให้นักลงทุนมีตัวเลือกในการลงทุนหุ้นกู้หลากหลายมากขึ้น”

นายณัฐพล ยังกล่าวถึง ความเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2552 ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นั้น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุต่ำกว่า 1 ปีลงมา ปรับตัวลดลงตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง R/P 1 วัน ซึ่ง ธปท.ได้ประกาศปรับลด R/P 1 วันลงในปี 2552 ถึง 3 ครั้ง ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีขึ้นไป ได้ผลกระทบจากปัจจัยลบด้านความกังวลเกี่ยวกับอุปทานล้นของพันธบัตรภาครัฐ

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ปัจจัยด้านการคาดการณ์ของนักลงทุนหลาย ๆ ฝ่ายคาดว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้ ควบคู่ไปกับตัวเลขตารางประมูลพันธบัตรรัฐบาลที่ค่อนข้างสูง และแรงซื้อขายของนักลงทุนที่แผ่วลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางถึงระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2552 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2551 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุต่ำกว่า 1 ปีลงมาปรับตัวลดลงในช่วง -46 ถึง -110 bp ในขณะที่อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวเพิ่มขึ้น 19 ถึง 165 bp

นอกจากนี้ นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในปี 2553 ว่า หุ้นกู้ภาคเอกชน คาดว่าจะมีปริมาณการออกใหม่ลดลงมากพอสมควร โดยมีปัจจัยที่เป็นตัวกระทบ 2 ประการหลักๆ คือ เรื่องของทิศทางดอกเบี้ย ที่คาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้า กับเรื่องของการออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมากของภาครัฐ ซึ่งน่าจะกระทบต่ออุปสงค์ในหุ้นกู้ใหม่ที่จะออกขายไม่มากก็น้อย

นายณัฐพลได้เปิดเผยถึงแผนงานของ ThaiBMA ในปี 2553 นี้ว่าจะยังคงเน้นในภารกิจหลัก 5 ด้าน ได้แก่

1. การทำหน้าที่องค์กรกำกับดูแลสมาชิก (SRO) ในปีนี้จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการรายงานข้อมูลเพื่อให้สมาชิกผู้ค้าตราสารหนี้สามารถส่งข้อมูลเข้ามาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และพัฒนาระบบฐานข้อมูลธุรกรรมประเภทใหม่ๆ อาทิ Net position ของ Private repo การปรับปรุงแนวทางการตรวจสอบสมาชิกโดยใช้หลักประเมินตามความเสี่ยง รวมถึงทบทวนกฎเกณฑ์ต่างๆที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในตลาด

2. การทำหน้าที่ศูนย์ข้อมูลตราสารหนี้ (Bond information) เพิ่มความหลากหลายและความลึกของข้อมูลเชิงวิเคราะห์ และให้บริการ Software ทางการเงินต่างๆ อาทิ i-port, i-solution ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปีนี้

3. การทำหน้าที่ Bond pricing agency พัฒนา analytical tool ใหม่ๆเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของบริการ รวมทั้งทบทวนโครงสร้างค่าบริการ mark to market ให้เหมาะสม

4. การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ แผนงานหลักในปีนี้คือการผลักดันการพัฒนาตลาด Private repo โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการผลักดันการพัฒนาตลาดพันธบัตรท้องถิ่น

5. การทำหน้าที่ Trade association เพื่อเป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ค้าตราสารหนี้ในประเด็นต่างๆ และจัดอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมา ThaiBMA เน้นในสองบทบาทหลักที่ได้รับมอบหมายจากทางการคือ การเป็น SRO และ Information center แต่ในปีนี้เราจะเพิ่มในเรื่องของการทำหน้าที่ด้าน Trade association คือเป็นตัวแทนของสมาชิกให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็ยังคงไม่ทิ้งในเรื่องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของ Private repo เพราะถือว่ามีความสำคัญมากต่อการส่งเสริมสภาพคล่องของตลาด” นายณัฐพลกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ