ทั้งนี้ เพลงพระราชนิพนธ์มีหลายรูปแบบ ทั้งเพลงปลุกใจ ปลอบใจ เพลงรัก เพลงสนุกสนาน ถือเป็นสิ่งที่ทรงทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน จึงต้องมาทำความเข้าใจให้ถูกว่าเพลงพระราชนิพนธ์นี้เป็นอย่างไร
เพลงพระราชนิพนธ์ หากพูดภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นเพลงที่ในหลวงทรงแต่ง ไม่ใช่เพลงเคารพ เป็นเพลงที่ทุกคนร่วมชื่นชมได้ ฟังได้ อย่างที่เราเคยรู้กันนานมาแล้วว่า เป็นเพลงที่เราร้องได้ เต้นได้ และแสดงความรู้สึกที่ดีออกมาได้หลายรูปแบบ แล้วดนตรีเป็นสื่อที่เรียกว่าไม่มีพรมแดน เราสามารถนำเพลงพระราชนิพนธ์ไปเรียบเรียงได้หลายรูปแบบ แต่การจะทำอะไรก็ต้องมีขอบเขต มีแบบแผน และกรอบ เราต้องเข้าใจให้ถูก ใช้ให้ถูก
อาจารย์อรรถพล ปิ่นทอง หรือ “อ.เปีย” ผู้บุกเบิกห้องดนตรีสากลประจำโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ (ตป.) เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ปลูกฝังให้เด็กๆ นักเรียนได้เรียนรู้และซาบซึ้งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ต่างๆ จนทำให้ชื่อเสียงของวงโยธวาทิตประจำโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์โด่งดังเกรียงไกรอย่างมาก
อาจารย์อรรถพล เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2546 ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมดนตรี ตนจึงก่อตั้งวงโยธวาทิตขึ้นมา และได้ฝึกฝนเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 จึงทำให้เด็กๆ นักเรียนวงโยธวาทิตที่นี่มีความสามารถมาก ไม่น้อยหน้าโรงเรียนไหนในพื้นที่เขต 3 เลยทีเดียว
“วงโยธวาทิตของเราจะส่งเสริมให้เด็กๆ ทุกคนบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ เช่นเพลงที่ให้ข้อคิด อย่างเพลงแสงเทียน ซึ่งเด็กๆ จะซาบซึ้งและตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่อยู่ในเพลงพระราชนิพนธ์ รวมทั้งเขาอาจจะมีความกระตือรือล้นที่จะมีส่วนร่วมและหันมาช่วยกันเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์มากขึ้น"
อาจารย์อรรถพล เล่าอีกว่า ครั้งหนึ่งได้เห็นขบวนแถวของวงโยธวาทิตของโรงเรียนต่างๆ จึงเกิดไอเดียว่าหากสามารถนำเด็กๆ ของเราไปชมก็จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจเพิ่มมากขึ้นก็ได้
ด้าน นายธนกร ภู่ทองคำ หรือ น้องโอ๊ต นักเรียนชั้น ม.3/4 นักดนตรีวงโยธวาทิตประจำโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ (ตป.) กล่าวว่า “พวกเราในวงโยธวาทิตรู้ว่าเวลาที่เรากำลังบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ทุกครั้ง เราทำเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ตลอดเวลา”