นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการAFTA เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 นั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ AFTA Hotline 1385 ขึ้น และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 โดยปฏิบัติงานในลักษณะของศูนย์เบ็ดเสร็จครบวงจร ปฏิบัติงานทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 — 16.30 น. แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มสายด่วนAFTA (Q & A Unit) ตอบคำถามและรับฟังปัญหา ข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับ AFTA และการเปิดตลาด กลุ่มติดตามและประเมินสถานการณ์ (Monitoring Unit) ติดตามสถานการณ์การนำเข้า — ส่งออก เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันกับเหตุการณ์ กลุ่มให้คำปรึกษาสัญจร (AFTA Mobile Unit) เป็นหน่วยเคลื่อนที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มมาตรการช่วยเหลือ (Remedy Unit) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลง ตลอดจนการเยียวยาผลกระทบและใช้มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ
ปรากฎว่าหลังจากเปิดศูนย์ฯ ได้ 20 วัน มีผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม และติดต่อด้วยตนเองกว่า 700 ราย โดยแยกเป็นกลุ่มสินค้าดังนี้
- กลุ่มสินค้าเกษตรภายใต้ AFTA , WTO มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 13.8
- รองลงมาได้แก่ สินค้าข้าวร้อยละ 9.3
- ปาล์ม น้ำมันปาล์ม ร้อยละ 5.1
- กาแฟ ร้อยละ 4.6
- น้ำตาล ร้อยละ 3.4
- สินค้ากลุ่ม Sensitive list ร้อยละ 3.0
- กาแฟสำเร็จรูป ร้อยละ 2.3
- มะพร้าว ร้อยละ 2.3
- มันสำปะหลัง ร้อยละ 2.3
- ยางพารา ร้อยละ 2.1
- อื่น ๆ ร้อยละ 51.8
สำหรับผู้ที่สอบถามเข้ามาแยกเป็นกลุ่มอาชีพ คือ ผู้นำเข้า - ส่งออก ร้อยละ 69.3 ผู้ผลิต ร้อยละ 12.7 และอื่น ๆ อาทิ นักวิชาการ นิสิต/นักศึกษา ร้อยละ 18.0 ประเด็นที่สอบถามเข้ามาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องอัตราภาษี ร้อยละ 31.9 กระบวนการนำเข้า — ส่งออก ร้อยละ 25.2 การออกหนังสือ/เอกสาร ร้อยละ 17.7 ข้อมูลการตลาด ร้อยละ 11.2 และอื่น ๆ ร้อยละ 14.0 ส่วนการประเมินความพอใจของผู้สอบถาม ร้อยละ 80 ยังได้รับความพอใจมากถึงมากที่สุด
ตั้งแต่วันที่ 1 — 25 มกราคม 2553 มีผู้มายื่นขอใช้สิทธิในการส่งออกไปอาเซียน 9 ประเทศ มีมูลค่าทั้งหมด 264.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแยกเป็นประเทศที่มีการขอใช้สิทธิมากที่สุด 4 อันดับแรก ดังนี้ (อัตราเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552)
1. เวียดนาม มูลค่า 95.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.70
2. อินโดนีเซีย มูลค่า 64.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 143.57
3. มาเลเซีย มูลค่า 59.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.02
4. ฟิลิปปินส์ 31.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.75
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ คือ ข้าวและมันสำปะหลัง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ปริมาณการขอใช้สิทธิโดยรวมในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.42
นายวิจักรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้บริหารเดินทางไปประชุมหารือและทำความเข้าใจกับหน่วยปฏิบัติที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก และจุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือ จังหวัดสระแก้ว ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่มีความพร้อมและมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการรองรับการเปิดตลาด AFTA เป็นอย่างดี และยังได้กำชับฝ่ายความมั่นคงให้ช่วยกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรให้เข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่จะเดินทางไปยังจังหวัดชายแดนสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย จึงขอให้ผู้นำเข้ามีความมั่นใจว่า จะได้รับการอำนวยความสะดวก หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ อันจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนของไทยต่อไป