นักวิจัยเจจีซี พัฒนาแผนที่ศักยภาพพลังงานลมที่ความละเอียด 1 กม ทั่วประเทศไทย

ศุกร์ ๒๙ มกราคม ๒๐๑๐ ๐๘:๓๒
นักวิจัยเจจีซี ได้พัฒนาฐานข้อมูลแผนที่ศักยภาพพลังงานลมที่ความละเอียด 1 กม. ครอบคลุมทั่วประเทศและฐานข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศเพื่อคัดเลือกพื้นที่ติดตั้งกังหันลมสำเร็จ เสนอภาครัฐและเอกชนใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาพลังงานลมเพื่อการผลิตไฟฟ้า

ผศ.ดร. เกษมสันต์ มโนมัยพิบูลย์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า พลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ได้รับความสนใจมากขึ้นและเทคโนโลยีทางพลังงานลมก็ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาและจัดทำแผนที่การประเมินศักยภาพพลังงานลมสำหรับประเทศไทยที่สำคัญสองสามการศึกษา แต่เป็นการศึกษาที่ผ่านมานานพอควร ผลการศึกษามีความไม่สอดคล้องกันในหลายพื้นที่ และไม่ได้มีการประเมินที่ระดับความสูงมากๆ เช่น 100 เมตร ด้วยเหตุนี้ตนจึงได้ทำงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินศักยภาพพลังงานลมด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และการวิเคราะห์ด้านภูมิศาสตร์สารสนเทศ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการศึกษา ซึ่งดำเนินการในประเทศไทยทั้งหมดด้วยบุคลากรหลักจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมฯ มีเป้าหมายเพื่อให้ได้แผนที่พลังงานลมที่มีความละเอียดสูง ทันสมัย และมีความน่าเชื่อถือ สำหรับใช้เป็นข้อมูลการวางแผนการพัฒนาพลังงานลมเพื่อการผลิตไฟฟ้าในเมืองไทย

ผศ.ดร.เกษมสันต์ กล่าวว่า ในการศึกษาครั้งนี้ ได้มีการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อจำลองบรรยากาศถึง 2 แบบจำลองร่วมกัน คือ แบบจำลองระดับกลาง (Mesoscale) กับ แบบจำลองระดับละเอียด (Microscale) ซึ่งทั้งสองเป็นแบบจำลองขั้นสูงและโอเพนซอร์ส (Opensource) พร้อมทั้งได้ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลตรวจวัดลมและอุตุนิยมวิทยาจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมควบคุมมลพิษ และ กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อตรวจสอบผลที่ได้การทำนายจากแบบจำลอง พบว่าผลการทำนายโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

“จากการใช้แบบจำลองและข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เราสามารถพัฒนาฐานข้อมูลแผนที่ศักยภาพพลังงานลมที่ความละเอียดถึง 1 กิโลเมตรครอบคลุมทั่วประเทศได้ โดยในแต่ละตารางกิโลเมตรของพื้นที่ ได้ให้ผลลัพธ์ที่เกี่ยวกับพลังงานลมหลายตัวแปร ได้แก่ 1. ความเร็วลมเฉลี่ย (เมตรต่อวินาที) 2. กำลังลมเฉลี่ย (วัตต์/ตารางเมตร) และ 3. ความสม่ำเสมอของกำลังลม ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยรายเดือนและรายปี ที่ระดับความสูง 20, 50, และ 100 เมตร นอกจากการทำแผนที่พลังงานลมแล้ว ทีมวิจัยยังได้พัฒนาฐานข้อมูลด้านภูมิศาสตร์สารสนเทศ ควบคู่กันไป เพื่อใช้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานลมที่น่าสนใจ มีความเป็นไปได้หรือเหมาะสมต่อการติดตั้งกังหันลมหรือไม่ เช่น เป็นพื้นที่ป่าสงวน ลุ่มน้ำ พื้นที่ลาดชัน ภูเขา เขตเมืองและอุตสาหกรรม ฯลฯ ในการพัฒนาดังกล่าว ได้ทำการทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก่อสร้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเลือกพื้นที่ด้วย”

ผศ.ดร.เกษมสันต์ กล่าวว่า จากการทำแผนที่ข้อมูลศักยภาพพลังงานลมประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานลมในหลายพื้นที่เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้แน่นอน โดยพื้นที่ที่น่าสนใจ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย เพชรบูรณ์ ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จนถึงต้นจังหวัดสงขลาตอนบนด้วย และบางส่วนของภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ดีด้วยตระหนักถึงปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทำให้พลังงานสะอาดเป็นพลังงานทดแทนที่มีความต้องการมากยิ่งขึ้น การจัดทำฐานข้อมูลด้านพลังงานลมในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายและการวางแผนลงทุนด้านพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศในอนาคต

ทั้งนี้สำหรับบุคคลที่สนใจฐานข้อมูลทั้งสองที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นนี้ สามารถติดตามดาวน์โหลดฐานข้อมูลหรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.jgsee.kmutt.ac.th หรือ http://complabbkt.jgsee.kmutt.ac.th/wind_proj

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO