นายสุภกิตติ์ พลจันทร ผู้อำนวยการกองตลาดภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ททท. ได้ประกาศปีท่องเที่ยวอีสาน ตั้งแต่ปี 2551 — 2553 โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ด้านการท่องเที่ยวภาคอีสานให้แก่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนกระตุ้นและดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดกับผู้ประกอบการในภาคอีสานและผู้ประกอบจากทั่วประเทศ ซึ่งสร้างกระแสความตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก โดยในปี 2553 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการประกาศปีท่องเที่ยวอีสาน ททท. เน้นดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมการขายอย่างจริงจัง โดยการจัดโครงการ I-San Revisit 2010 ขึ้น ระหว่างวันที่ 26 — 30 มกราคม 2553 โดยเชิญผู้ซื้อคือ สมาคมท่องเที่ยวต่างๆ จากทั่วทุกภาค รวม 91 ราย รวมถึงเชิญบริษัทนำเที่ยวจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชีย 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น, จีน, เวียตนาม, มาเลเซีย, สิงค์โปร์ และฮ่องกง รวมทั้งสิ้น 71 ราย เข้าร่วมงาน โดยให้ผู้ซื้อได้เดินทางสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว “อีสานแหล่งเรียนรู้ อู่อารยธรรม” จากนั้นจึงเป็นการเสวนา โอกาสอีสานในตลาดท่องเที่ยว และจัดให้ผู้ซื้อได้พบกับผู้ขาย 19 จังหวัดภาคอีสาน ในลักษณะ Table Top Sale ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออร์คิด โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการทั้งกลุ่มซื้อและผู้ขายได้ใช้เป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมองลู่ทางทางธุรกิจในภาคอีสาน”
ทั้งนี้ ภายหลังจากสำรวจเส้นทาง กลุ่มผู้ซื้อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการและ ททท. ถึงความเป็นไปได้และโอกาสในการจัดเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน “ โดย 80 % ของกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างประเทศและชาวไทยพึงพอใจกับแหล่งท่องเที่ยวในภาคอีสานรวมทั้งรู้สึกไม่คาดคิดมาก่อนว่าในภาคอีสานมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจขนาดนี้ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อต่างประเทศ อันดับต้นๆ คือ เส้นทางไดโนเสาร์ โดย ผู้ซื้อจากมาเลเซีย, อินเดีย และเวียตนาม ให้ความสนใจกับแหล่งท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์, อุทยานประวัติศาสตร์หินพิมาย และพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เห็นว่าเหมาะสมกับการจัดเป็น Educational Tour สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มาเลเซียยังไม่มี นอกจากนี้กลุ่มผู้ซื้อจากอินเดียยังให้ความสนใจแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของฟาร์ม โชคชัยเป็นพิเศษ เนื่องจากมีกิจกรรมที่หลากหลายและเหมาะกับกลุ่มครอบครัวเป็นอย่างมาก กลุ่มผู้ซื้อจากญี่ปุ่น เห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวไดโนเสาร์ของภาคอีสานมีศักยภาพพอที่จะดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นในกลุ่มที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวแบบครอบครัว และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับทัวร์ และหาก ททท. ต้องการเจาะกลุ่มตลาดญี่ปุ่น การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวจำเป็นต้องมี Theme มี Concept ที่ชัดเจน จึงจะดึงดูดความสนใจตลาดญี่ปุ่นได้ กลุ่มผู้ซื้อจากประเทศสิงค์โปร์ ชื่นชอบ สามพันโบก จ.อุบลราชธานี เป็นอย่างมากและเห็นว่าน่าจะขายได้สำหรับสิงค๋โปร์ โดยเฉพาะกลุ่ม Young Generation กลุ่มนักเรียน ในลักษณะของ Education Trip ซึ่งสิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวสิงค์โปร์ต้องการคือ อาหารดี ปลอดภัย ช้อปสนุก และผู้ซื้อจากฮ่องกง เห็นว่าหมู่บ้านช้าง จ.สุรินทร์ , ปราสาทหินพนมรุ้ง จะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวฮ่องกง ขณะที่ผู้ซื้อชาวไทย จากภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศให้ความสนใจกับแหล่งท่องเที่ยวอีสานเป็น อย่างมาก การจัดงานครั้งนี้นับเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ด้านแหล่งท่องเที่ยวของอีสานที่น่าสนใจ และ เห็นว่าเมืองเชียงคาน จ.เลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขายได้ แต่แสดงความเป็นห่วงถึงการอนุรักษ์เมือง เชียงคานให้มีความยั่งยืน ขณะที่ผู้ซื้อต่างประเทศมีข้อเสนอแนะ คือ ระยะทางระหว่างแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งค่อนข้างไกลกันมากใช้เวลานานเกินมาตรฐานการจัดทัวร์ จึงควรหาจุดแวะพักหรือกิจกรรม ให้นักท่องเที่ยวได้ทำระหว่างการเดินทาง รวมถึงความเข้าใจด้านอาหารฮาลาลของชาวอีสานซึ่งต้องปรับปรุงอีกระยะหนึ่ง”
ขณะที่ผู้ซื้อจากอินเดีย และฮ่องกง แสดงความสนใจอย่างจริงจังต่อการซื้อสินค้าทางการท่องเที่ยวจากอีสาน โดยเฉพาะฟาร์มโชคชัย ซึ่งได้เจรจาขอรายละเอียดเพื่อเซ็นสัญญาในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ นายสุภกิตติ์ กล่าวถึงผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ว่า “การจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสร้างโอกาสการขายและเพิ่มพูนประสบการณ์การเจรจาการค้ากับผู้ซื้อต่างชาติให้กับกลุ่มผู้ขายสินค้าและบริการการท่องเที่ยวของภาคอีสาน รวมถึงสร้างการรับรู้และตอกย้ำถึงจุดเด่นทางการท่องเที่ยวในภาคอีสาน ซึ่งททท.ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากผลการวิเคราะห์เบื้องต้น การเจรจาธุรกิจ (Table Top) จากการจัดงาน I-San Revisit 2010 ครั้งนี้ การสอบถามและขอข้อมูล ผู้ขาย 1 ราย มีผู้ซื้อมาขอข้อมูลโดยเฉลี่ยประมาณ 21 ราย, การเจรจาต่อรอง มีการเจรจาเกิดขึ้นทั้งหมด ในงานประมาณ 300 ครั้ง, ทำสัญญาเบื้องต้น มีการทำสัญญาเบื้องต้นเกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 50 สัญญา (โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ) , เซ็นสัญญา มีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้นทั้งหมด 6 สัญญา มูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อคนไทย) ”
การจัดงานครั้งนี้มียอดการซื้อขายในประเทศ 5 ล้านบาท และคาดว่ายอดการซื้อขายในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทอย่างแน่นอน เนื่องจากบางรายยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาการค้า สำหรับกิจกรรมของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการประกาศปีท่องเที่ยวอีสานนั้น จะมุ่งเน้นการดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย เจาะกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มประชุมสัมมนาและองค์กร, ครอบครัว เยาวชน,ผู้สนใจพิเศษทางศาสนา โบราณคดี และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยเสนอกิจกรรม อาทิ การจัดรายการคาราวานรถยนต์ท่องเที่ยวอีสาน , กิจกรรมไดโนเสาร์แฟนคลับ และเตรียมจัดงานเทศกาลเที่ยวอีสาน หรือ Amazing I-San Fair 2010 โดยเชิญผู้ประกอบการสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในภาคอีสานร่วมแสดงสินค้าระหว่างวันที่ 18 — 21 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำหรับตลาดต่างประเทศ เน้นนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก รวมทั้งรุกตลาดใหม่ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน พร้อมเจาะตลาดยุโรปที่สนใจเรื่องวัฒนธรรม
สำหรับเป้าหมายทางการตลาดเมื่อสิ้นปี 2553 ของ ททท.ภูมิภาคตะวันออกฉียงเหนือนั้น คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 26.20 ล้านคน (ขยายตัวเฉลี่ย 5.93% ต่อปี) แบ่งออกเป็นชาวไทย 25.02 ล้านคน (ขยายตัวเฉลี่ย 5.91% ต่อปี) ชาวต่างประเทศ 1.18 ล้านคน (ขยายตัวเฉลี่ย 6.33% ต่อปี) ,รายได้ทาง การท่องเที่ยวรวม 47,300 ล้านบาท (ขยายตัวเฉลี่ย 11.28% ต่อปี) แบ่งออกเป็นชาวไทย 44,450 ล้านบาท (ขยายตัวเฉลี่ย 11.09% ต่อปี) ชาวต่างประเทศ 2,850 ล้านบาท (ขยายตัวเฉลี่ย 14.43% ต่อปี) , ระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 2.75 วัน แบ่งออกเป็นชาวไทย 2.75 วัน ชาวต่างประเทศ 3.00 วัน และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวัน 885 บาท (ขยายตัวเฉลี่ย 4.05% ต่อปี) แบ่งออกเป็นชาวไทย 864.56 บาท (ขยายตัวเฉลี่ย 3.92% ต่อปี) ชาวต่างประเทศ 1,412.18 บาท (ขยายตัวเฉลี่ย 6.03% ต่อปี)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร 0 2682 9880