กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--บีโอไอ
รัฐมนตรีวัฒนาเผยผลชักจูงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มั่นใจไทยจะเป็นแหล่งลงทุนอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ส่วนค่ายรถยนต์รายใหญ่ต่างขานรับการผลิตรถประหยัดพลังงาน ด้านบีโอไอพร้อมศึกษารายละเอียดการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจการผลิต
นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเยือนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2548 ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เห็นได้จาการตอบสนองของ นักลงทุนญี่ปุ่นที่มาร่วมฟังการสัมมนาเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการลงทุนในไทยที่มีมากกว่า 500 คน และปัจจุบัน นักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มหันมาให้ความสนใจการลงทุนในไทยมากขึ้น หลังจากที่จีนเคยเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 1 ของนักลงทุนญี่ปุ่น ( จากการสำรวจของ JBIC) เพราะญี่ปุ่นมีฐานผลิตในไทยอยู่แล้ว
“เชื่อว่าในอนาคตในอนาคตไทยจะเป็นแหล่งลงทุนในต่างประเทศอันดับ 1 ของนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะประเทศไทยมีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือเป็นศัตรูกับใคร นอกจากนั้นยังมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆบุคลากรที่มีคุณภาพและค่าแรงไม่สูง “ นายวัฒนากล่าว
ส่วนการพบปะกับค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นนั้น กล่าวได้ว่าทุกค่ายเห็นว่าประเทศไทยเดินมาถูกทางที่จะให้การส่งเสริมการผลิตรถประหยัดพลังงงาน โดยเชื่อว่าในอนาคตทุกประเทศจะต้องหันมาผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน เนื่องจากปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากทุกค่ายยังไม่มีการผลิตรถยนต์ที่มีสเปคตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่จึงขอให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องสเปค พร้อมทั้งจะรอดูความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลก่อน ทั้งนี้ อาจต้องใช้เวลาสำรวจตลาดว่ามีความต้องการรถยนต์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนในการผลิตด้านนายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า การให้ส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ผลิตรถ “เอสคาร์” คงไม่มีการกำหนดเงื่อนไขด้านอื่น นอกจากสเปคตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด และจะให้สิทธิประโยชน์ตามเกณฑ์ปกติ ตามที่กฎหมายส่งเสริมการลงทุนจะให้ได้ ซึ่งคงต้องมีการศึกษารายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้จูงใจผู้ผลิต เพราะการลงทุนนี้เป็นการลงทุนใหม่ ออกแบบใหม่ทั้งหมดและไม่เคยผลิตมาก่อน
สำหรับการลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU (Memorandum of Understanding) ระหว่างเมืองโยโกฮาม่ากับบีโอไอนั้น นายสาธิตกล่าวว่า จะทำให้นักลงทุนในแถบเมืองโยโกฮาม่า ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมหลากหลาย ทั้งขนาดใหญ่ เช่นเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมไฮเทค ไบโอเทคโนโลยี และไอที ตลอดจนอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีประเภทชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รู้จักและขยายการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ก็มีอุตสาหกรรมในเมืองโยโกฮาม่าไปลงทุนในไทยกว่า 30 รายแล้ว
ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ บีโอไอกับเมืองโยโกฮาม่าจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน โดยจะมีการจัดประชุมสัมมนาทางธุรกิจระหว่าง ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ของไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งมีการประชุมหารือเรื่องการซื้อขายชิ้นส่วนแบบรายบริษัทด้วย--จบ--
- ๑๗ พ.ย. กพร. จับมือ เอ็มเทค สวทช. จัดสัมมนาสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการออกแบบสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
- ๑๖ พ.ย. "ดีพร้อม" ขานรับนโยบาย "เอกนัฏ" สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงอัตลักษณ์แฟชั่นไทย เสริมแกร่งศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่ระดับสากล ดันเศรษฐกิจโตกว่า 30 ล้านบาท
- ๑๖ พ.ย. "เอกนัฏ" มุ่ง เซฟ SME ไทยให้ดีพร้อม ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในงานเสวนาสภา SME ไทย