นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การพาเด็กไปรับประทานอาหารประเภทจานร้อน เช่น สุกี้ หมูย่างเกาหลี หัวปลาหม้อไฟ เป็นต้น มีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะได้รับอันตรายจากความร้อนของเตาไฟ หม้อน้ำและอาหาร เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะนำวิธีพาเด็กไปรับประทานอาหารจานร้อนอย่างปลอดภัย ดังนี้
พ่อแม่ผู้ปกครอง ดูแลการรับประทานอาหารของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากป้อนอาหารให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ ต้องหั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก เพื่อป้องกันอาหารติดหลอดลมหรืออุดตันทางเดินหายใจเสียชีวิต ไม่ปล่อยให้เด็กหยอกล้อเล่นกัน วิ่งซุกซนภายในร้านอาหาร เพราะเด็กอาจได้รับอันตรายจากน้ำร้อนลวกหรืออาหารที่พนักงานเสิร์ฟเดินส่งตามโต๊ะต่างๆ หกรดใส่ตัวได้ รวมถึงไม่ให้เด็กนำอุปกรณ์ประกอบอาหาร เช่น ตะหลิว ช้อน ส้อม ตะเกียบ มาเป็นอาวุธสำหรับเล่นต่อสู้กัน อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ไม่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี ย่างหรือตักอาหารด้วยตนเอง เพราะอาจถูกของร้อนลวกจนได้รับบาดเจ็บ ระมัดระวังอย่าให้เด็กเอามือจับภาชนะที่มีความร้อน ใช้นิ้วหรือมือเขี่ยเชื้อเพลิงในเตาไฟ ดึงสายไฟหรือท่อส่งก๊าซ รวมถึงดูแลเด็กที่กำลังหัดเดินเป็นพิเศษ ไม่ให้เด็กดึงผ้าปูโต๊ะเล่น เพราะอาจทำให้ภาชนะใส่อาหารหล่นใส่จนเด็กได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งไม่ควรให้เด็กเติมเชื้อเพลิงในเตาไฟ เปิด-ปิดเตาไฟหรือเติมน้ำร้อนในหม้อน้ำเองอย่างเด็ดขาด และควรปิดเตาไฟให้สนิททุกครั้งเมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญ ในขณะที่ถือของร้อนหรือมีอาหารร้อนวางอยู่บนโต๊ะ ไม่ควรอุ้มเด็กหรือให้เด็กนั่งตักอย่างเด็ดขาด เพราะเด็กอาจใช้มือหยิบหรือปัดภาชนะจนทำให้อาหารหกรดใส่ตัวได้
พนักงานเสิร์ฟ ควรระมัดระวังเด็กวิ่งชนในขณะเสิร์ฟอาหาร หากเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารดับ ให้ยกเตาไฟมาเติมเชื้อเพลิงภายในห้องครัวจะปลอดภัยมากกว่าการนำแอลกอฮอล์มาเติมบนโต๊ะอาหาร เพราะหากเชื้อเพลิงเดิมยังติดไฟอยู่และนำเชื้อเพลิงใหม่ไปจุดเพิ่มจะเกิดปฏิกิริยาปะทุ ทำให้เกิดระเบิดจนไฟลวกใส่หน้าลูกค้าได้
เจ้าของร้านอาหารหรือสถานประกอบการ ควรจัดสภาพแวดล้อมในร้านอาหารให้ปลอดภัย เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะให้พอดี เพื่อป้องกันเด็กวิ่งชนหม้อน้ำร้อนที่วางอยู่ตามชั้นวางอาหารหรือขอบโต๊ะ จัดให้ถังดับเพลิงเคมีขนาดเล็กไว้ในจุดที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก ตลอดจนฝึกให้พนักงานภายในร้านสามารถใช้อุปกรณ์ดับเพลิงได้อย่างถูกวิธีและเรียนรู้วิธีป้องกันและแก้ไขกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ที่สำคัญ ควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะความประมาทหรือพลั้งเผลอเพียงชั่วพริบตา อาจทำให้เด็กถูกของร้อนลวกตัวจนได้รับบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิตได้