ทั้งนี้โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเกิดจากแนวคิดของนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ที่ต้องการให้มีโรงเรียนที่เป็นแบบอย่างในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สร้างเยาวชนให้เป็นคนดีของประเทศ ให้เด็กชนบทมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเด็กในเมือง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของนายเจมส์ คลาร์ค ชาวอังกฤษ ที่มีโอกาสสัมผัสกับระบบการศึกษาไทยในชนบทอย่างใกล้ชิด ซึ่งนายเจมส์ คลาร์ค สนับสนุนโครงการทุนการศึกษานักเรียนของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา นอกจากนี้มูลนิธิเจมส์คลาร์คแห่งประเทศอังกฤษได้ผู้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนฯ โดยลงนามบันทึกความร่วมมือในวันที่ 8 สิงหาคม 2544 และทำพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกภาคเรียนที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 46 ด้วยวิธีจับฉลากคัดเลือกเด็กจากเด็กทั่วไปในอำเภอลำปลายมาศเข้าเรียนใน 3 ชั้นเรียน ได้แก่ ชั้นอนุบาล 1 ชั้นอนุบาล 2 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ระดับละ 1 ห้อง ห้องละประมาณ 30 คน เข้าเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่มีข้อพิจารณาสำคัญคือ ผู้ปกครองต้องสามารถรับส่งนักเรียนได้ทุกวัน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมกับโรงเรียน โดยกำหนดเปิดชั้นเรียนระดับสูงขึ้นทุกปีเพื่อรองรับนักเรียนจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งขณะนี้จัดการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมที่ 1 มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 240 คน
นอกจากนี้ได้ดูงานโครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้านและห้องสมุดของเล่น ในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ เยี่ยมชมกิจกรรมเยาวชนบ้านลิ่มทอง โครงการคลองส่งน้ำชุมชน ดูงานพัฒนาชุมชนบ้านหนองตาเข้ม อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยจะนำสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้มาปรับและประยุกต์ใช้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้มีความสอดคล้องกับสภาพ และสิ่งแวดล้อม ในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีความสุข สนุกกับการเรียน พร้อมทั้งพัฒนาสมอง และศักยภาพของเด็กในด้านต่างๆ ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม