นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ปี 2553 นี้ บีโอไอมีนโยบายชัดเจนในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการในหลายกลุ่มให้ความสนใจเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งล่าสุดการประชุมของคณะทำงานพิจารณาโครงการได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท เทินบู ดีไซน์ จำกัด ในการขยายกิจการผลิตผ้าพิมพ์ และแต่งสำเร็จผ้า และกระดาษปิดฝาผนัง (Wall Paper) กำลังการผลิตปีละ ประมาณ 170,000 เมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 40 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ จังหวัดนครราชสีมา
โดยโครงการลงทุนครั้งนี้นักลงทุนจากสหราชอาณาจักร ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโดยจัดทำเป็นโปรเจ็คงานด้านสิ่งทอกับนักศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และได้ใช้ประสบการณ์จากศาสตราจารย์ด้านสิ่งทอที่มหาวิทยาลัย Ulster ในประเทศไอร์แลนด์ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการผลิตให้มีกรรมวิธีใหม่แตกต่างจากการผลิตในปัจจุบันมากขึ้น ทำให้สินค้าที่ได้มีรูปแบบการพิมพ์ที่มีคุณภาพ เช่น มีความคมชัดหลายสีในผ้าผืนเดียวกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้วางแผนที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออก ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าประเภทขายส่ง และกลุ่มของนักออกแบบตกแต่งภายใน อาทิ Michael Smith Inc. ซึ่งปัจจุบันเป็นงานที่ใช้ในการตกแต่งทำเนียบขาว รวมถึงการผลิตสินค้าในกลุ่มศิลปะโบราณ (Antique) ซึ่งใช้สำหรับงานฟื้นฟูต่างๆ เช่น พระราชวังอังกฤษ
“รูปแบบของโครงการนี้เป็นกิจการที่น่าสนใจทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้สีวัต (Vat dye) ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ทำให้สีติดเส้นด้ายหรือผ้าดีขึ้น จะช่วยด้านการประหยัดทรัพยากรน้ำที่ใช้สำหรับซักล้างน้อยลง ประมาณ 50% รวมถึงตะกอนที่ได้จากการซัก สามารถกำจัดได้ง่ายโดยใช้ทำปุ๋ยได้ดี เพราะส่วนหนึ่งมีแบคทีเรียอีกด้วย” นางหิรัญญา กล่าว
นางหิรัญญา กล่าวว่า บีโอไอ อยู่ระหว่างเร่งหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดทำรายละเอียดของนโยบายลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้ว โดยมั่นใจว่าแนวทางดังกล่าวจะปรับทิศทางประเทศไทยไปสู่การพัฒนาประเทศที่มีความยั่งยืน เน้นการสร้างความเจริญเติบโตแบบสมดุลในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อเสนอที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ในครั้งต่อไป