นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของนโยบายการผลิตแพทย์และการกระจายแพทย์ในประเทศไทย ดังนั้นหากมีการตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่งจะส่งกระทบต่อระบบกำลังคนด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงขอเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ควรด่วนตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่เฉพาะของตนเพียงลำพัง ควรมีการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน เพื่อให้สังคมได้ร่วมตัดสินใจให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนคนไทยและประเทศชาติ
“เรื่องนี้ได้เคยมีการนำขึ้นมาพิจารณาในเวทีวิชาการในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมมองเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพในระดับวิกฤตเรื้อรังมาโดยตลอดและยังไม่ถึงเวลาที่ควรพิจารณาเรื่องนี้ ควรมุ่งเน้นการผลิตและการพัฒนาที่มุ่งแก้ปัญหาของคนไทยส่วนใหญ่มากกว่า แต่ต่อมาได้มีความเคลื่อนไหวในการขออนุมัติจัดทำหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ดังนั้นคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน มีเลขานุการร่วม 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ , สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข , สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงจะเปิดเวทีสาธารณะ “การผลิตแพทย์นานาชาติ สังคมได้อะไร” ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 09.30-12.00 น. ที่ โรงแรมริชมอนด์ โดยเปิดรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายแพทย์อำพล กล่าว
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเสริมอีกว่า ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพเป็นปัญหาใหญ่และมีความสลับซับซ้อนมากต้องตั้งสติและทำความเข้าใจให้กระจ่าง ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบสุขภาพโดยรวมอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้มีการระบุไว้ใน “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552” ที่มีผลผูกพันธ์หน่วยงานของรัฐอย่างเป็นทางการแล้ว โดยระบุ ให้รัฐมีหน้าที่กำหนดนโยบาย วางแผน ผลิต พัฒนาและกระจายบุคลากรสาธารณสุขอย่างเป็นธรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และควบคุมมิให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี อีกทั้งมีการกล่าวไว้ในแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550-2559 ที่ ครม.เห็นชอบแล้วด้วยว่าให้เน้นการผลิตกำลังคนเพื่อไปทำงานในพื้นที่ชนบทเป็นสำคัญเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในสังคม
ดังนั้น สช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ประสานทุกภาคส่วนในการพัฒนานโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม จึงได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาดำเนินการโดยขณะนี้ได้เปิดช่องทางรับฟังความเห็น “การผลิตแพทย์นานาชาติ สังคมได้อะไร” ทางเว็บไซด์ www.nationalhealth.or.th และหมายเลขโทรศัพท์ 089-0035590 จึงขอเชิญผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ แสดงความคิดเห็นเข้าไปได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้น สช. จะได้นำความเห็นต่างๆ เข้าสู่เวทีสาธารณะในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ และใช้ประกอบการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย