เรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา”
วันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ณ ห้องประชุมแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ
จัดโดย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
หลักการและเหตุผล
เสรีภาพในการชุมนุม นอกจากเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังถือเป็นกลไกที่สำคัญ ที่อำนวยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่รับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญ เช่น การมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ การจัดการทรัพยากร ตลอดจนการกำหนดวิถีชีวิตของประชาชนเอง ดังนั้น ประเทศประชาธิปไตย จึงควรคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนไม่ให้ถูกรบกวนหรือถูกจำกัดลง แต่ในขณะเดียวกันต้องมิให้การใช้เสรีภาพของประชาชนดังกล่าวกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่นๆ อย่างเกินขอบเขตด้วย
ที่ผ่านมา การใช้เสรีภาพในการชุมนุมในสังคมไทยเป็นไปอย่างเข้มข้น เพื่อแสดงความเห็นสำหรับสังคมประชาธิปไตยหรือเพื่อเป็นช่องทางเรียกร้องขอความเป็นธรรมเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ หรือได้รับความไม่เป็นธรรมจากกลไกของรัฐ หากกลไกปกติของรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนจึงต้องใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ของตน ทั้งนี้ หลักสากลของสิทธิมนุษยชนกำหนดว่ารัฐจะสามารถจำกัดสิทธิดังกล่าวได้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะโดยรวม และเป็นไปเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองของไทยที่มีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างกว้างขวาง จนก่อให้เกิดการกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่นในสังคม มีผลทำให้ทัศนคติของสังคมต่อการชุมนุมเป็นไปในทางลบมากขึ้น จนเกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลต้องจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม เช่น การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุม
ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญว่ากฎหมายดังกล่าวที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนและสังคมโดยรวม จึงได้จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” ขึ้นในวันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๓๐ — ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อนำเสนอหลักการ ข้อมูล และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมและบทบาทของรัฐที่เป็นไปในทางคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อสังคม
๒. เพื่อระดมความเห็นและประสบการณ์จากประชาชนผู้ใช้สิทธิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และบทบาทของรัฐที่สอดคล้องกับการคุ้มครองเสรีภาพตามหลักการสากล
งบประมาณ
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
การลงทะเบียน
เข้าร่วมการประชุมโดยไม่เสียค่าลงทะเบียน
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้เข้าร่วมประชุม ๒๐๐ คน ประกอบด้วย
๑. สื่อมวลชนทุกแขนง
๒. ผู้มีประสบการณ์ในการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุม
๓. นักวิชาการและผู้แทนสถาบันการศึกษา
๔. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
๕. ประชาชนผู้สนใจทั่วไป
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ได้ข้อมูล ประสบการณ์ และความเห็นเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพการชุมนุมที่ควรเป็นในสังคมไทย และบทบาทของรัฐที่เหมาะสม
เอกสารประกอบการประชุม (สามารถ Download ได้จาก http://ppvoice.thainhf.org www.nhrc.or.th
ตั้งแต่วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)
๑. ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองความสะดวกของประชาชนเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... (ฉบับของรัฐบาล)
๒. บันทึกความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
๓. บทความเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายของสหพันธรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐเกาหลี
กำหนดการเวทีนโยบายสาธารณะ
เรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา”
วันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ณ ห้องประชุมแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ
จัดโดย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
๐๘.๓๐ — ๐๘.๕๐ น. ลงทะเบียน
๐๘.๕๐ — ๐๙.๐๐ น. กล่าวชี้แจงความเป็นมา โดย นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์
ประธานอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
๐๙.๐๐ — ๐๙.๓๐ น. กล่าวเปิดและปาฐกถานำ โดย ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร
ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
๐๙.๓๐ — ๑๐.๐๐ น. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา”
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
๑๐.๐๐ — ๑๑.๔๕ น. เวทีสาธารณะระดมความเห็น “กรอบกติกาการชุมนุมสาธารณะที่สังคมไทยต้องการ”
ศาสตราจารย์พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
พลตำรวจโท เจตน์ มงคลหัตถี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำเนินการอภิปรายและสรุปผล โดย นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์
๑๑.๔๕ — ๑๒.๐๐ น. ปัจฉิมกถาและกล่าวปิด
“เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ : บทบาท กสม. ในการขับเคลื่อน” โดย ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ