นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษก กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องดำเนินการ “โครงการภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า” ภายใต้งบประมาณปี 2551-2553 เพื่อวางมาตรการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้า ที่อุตสาหกรรมไทยจะต้องให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฏระเบียบของสหภาพยุโรปและประเทศคู่ค้าอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ที่มีมาตรการในการผลิตสินค้า ได้แก่ กฏระเบียบ ELV/WEEE/RoHS, กฏระเบียบ EuP และกฏระเบียบ REACH ซึ่งภายใต้กฏระเบียบทั้งหมดได้ให้ความสำคัญกับการใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาฐานข้อมูล การพัฒนาผู้ประกอบการและห้องปฏิบัติการทดสอบ และการจัดทำกฏระเบียบ/มาตรฐานและระบบการจัดการซาก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในอาเซียนภายใน 10 ปี
“จากการดำเนินงานตามมาตรการที่ผ่านมาในระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2551-2553 ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลักที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ อุตฯ สิ่งทอ อุตฯ ไฟฟ้าฯ และอุตฯ ยานยนต์ สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลที่ทันสมัยได้ง่ายและมีความรู้ความเข้าใจด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น กฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับกฏระเบียบ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบ 5 แห่ง ที่มีความพร้อมในการรับรองตามกฏระเบียบของสหภาพยุโรป พร้อมทั้งจัดอบรมผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องของประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถปรับตัวได้ทันและมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้ามากขึ้น“
นอกจากนี้ในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องระยะที่ 2 ในปี 2554-2556 เพื่อเร่งให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในอาเซียน จึงได้วางแนวทางในการยกระดับสินค้าไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากลและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าสำคัญ พร้อมส่งเสริมให้เกิด
การใช้สินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศอย่างแพร่หลาย และป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าด้อยคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลักใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานในระยะที่ 1 ที่สำคัญ ได้แก่ ฐานข้อมูล, ห้อง Lab, ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฏระเบียบและศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผลิตสินค้า Eco Product เป็นต้น
นางสุทธินีย์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินงานในระยะที่ 2 เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงสุด จึงได้กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) เพื่อระดมสมองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแนวทางในการดำเนินงานให้มีความชัดเจน และมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น โดยเน้นความจำเป็นและความต้องการของแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงอุปสรรคปัญหาต่างๆ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้การดำเนินงานระยะต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สอบถามเพิ่มเติมที่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) โทรศัพท์ 02 2024371 หรือ เว็บไซต์ www.oie.go.th