“มหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” รวมพลังรัฐ เอกชน สื่อมวลชน และประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งยุติความรุนแรง

พฤหัส ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๐ ๑๒:๑๖
เปิดฉากอย่างสวยงามกับกิจกรรมเปิดตัว “มหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” หรือไวท์ ริบบอนเยียร์ ของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้า เจ เจ มอลล์ กรุงเทพฯ

งานนี้มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและและปาฐกถาเรื่อง “การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” โดยมีใจความสำคัญว่า

ปัญหาความรุนแรงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ เพราะในปี ๆ หนึ่ง รัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเหยื่อผู้ถูกระทำความรุนแรง และผู้ถูกกระทำเองก็ต้องเสียรายได้รวม ๆ แล้วกว่า ๓๖,๐๐๐ ล้านบาท

รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขด้วยการพัฒนามาตรการ กลไก ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรง ไม่ถูกกระทำซ้ำ ในขณะเดียวกันก็มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรง กฎหมายฉบับนี้ ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ผู้พบเห็นหรือทราบการกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่ ที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงก่อนที่จะเกินเยียวยา

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เราต้องสร้างกระแสสังคมให้เห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของสังคมที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล

ซึ่งนายกยังบอกอีกว่ากลยุทธ์ที่จะทำให้การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวประสบความสำเร็จ คือการหาแนวร่วมจากเครือข่ายสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกลไกหลักที่สำคัญประการหนึ่งที่จะเอื้อต่อการจัดการกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลต่อทัศนคติ ความเชื่อและพฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้

งานนี้เราจึงได้เห็นสื่อมวลชนจำนวนมากทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์มาร่วมเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์ “มหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” โดยเฉพาะสี่สาวพิธีกรรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง ที่มาขึ้นเวทีเสวนาอย่างออกรสประเด็นยุติความรุนแรง อย่างมุมมองผู้หญิงรุ่นใหม่ของกาละแมร์ พัชรศรีที่ให้ข้อคิดว่า ผู้ชายหลายคนมักคิดว่าพอผู้หญิงแต่งงานแล้ว ชีวิตเราต้องเป็นของเขา ขอให้เปลี่ยนความคิดสีย แม้แต่ผู้หญิงเองก็ต้องเลิกความคิดที่ว่าสามีมีสิทธิทำร้ายร่างกายภรรยา ส่วนคนทั่วไปเห็นสามีทำร้ายภรรยาก็อย่านิ่งเฉยคิดว่า “เป็นเรื่องในครอบครัวเขา เราไม่เกี่ยว” เพราะปัญหาแบบนี้จะยุติลงก็ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของทุกคน

ด้านนายอิสสระ สมชัย รมว.พม. เจ้าของโครงการ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ “มหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” ว่า ภารกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งของกระทรวงฯ คือการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ไปสู่การบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นปัญหา ตลอดจนสร้างกระแสสังคมให้มีความตื่นตัวและร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว ดังนั้น พม. จึงได้จัดกิจกรรมมหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ซึ่งจะดำเนินการไปตลอดปี ๒๕๕๓ สร้างกระแสการรณรงค์เชิญชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมเป็นพลังยุติความรุนแรงฯ ด้วยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรง” ต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว อย่างต่อเนื่องตลอดปี ๒๕๕๓ และเชิญชวนให้ประชาชนร่วมติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว เพื่อแสดงสัญลักษณ์เตือนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความรุนแรง

ริบบิ้นสีขาว (White Ribbon) เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายติดแสดงถึงการร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยปัจจุบันสัญลัษณ์นี้ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย เพื่อร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

โดยประชาชน หน่วยงานราชการและเอกชน ศิลปิน และดาราที่มาร่วมพิธีเปิดงาน “มหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” ได้รับเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว เสื้อและหมวกสีชมพูสดใส พร้อมข้อความ “ยุติความรุนแรง” ใส่ร่วมเดินขบวนรณรงค์ตั้งแต่เจ เจ มอลล์ ไปรอบตลาดนัดสวนจตุจักร มอบแผ่นพับเผยแพร่ “มหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” ให้รู้จัก และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความรุนแรง

ภายในงานยังมีการแสดงต่าง ๆ บนเวที เช่น การแสดงของเหล่าศิลปินจากโรงเรียนซุปเปอร์สตาร์ อะคาเดมี การตอบคำถามชิงรางวัล รวมทั้งการจัดซุ้มนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้ร่วมงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

งานนี้ต้องชื่นชมทุกฝ่ายที่ถึงแม้เป็นวันหยุดแต่หน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน สื่อมวลชน ก็ยังมาร่วมงานและเดินขบวนรณรงค์ยุติความรุนแรงอย่างพร้อมเพรียงกัน ฝ่ายศิลปิน ดารา พิธีกร ทั้งเคน ธีรเดช แอน ทองประสม เบนซ์ พรชิตา โฬม พัชตะ ต๊ะ วริษฐ์ ปุ้ย พิมลวรรณ ไก่ มีสุข นิน่า กุลนัดดา กาละแมร์ พัชรศรี ปอ ปุณยวีร์ และโก้ ชาญชัยก็ไม่ห่วงสวยหล่อเดินนำขบวนพร้อม รมว.พม. และผู้บริหารกระทรวง

การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสสังคมที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมด้วยช่วยกันในการยุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป และงานนี้จะเป็นเรือธงเปิดตัวในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดปี ๒๕๕๓ ตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เริ่มที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดต่อไป ในวันที่ ๑๒ — ๑๓ กุมภาพันธ์นี้

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการยุติความรุนแรง ด้วยการติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลในการร่วมมือรณรงค์ดังกล่าว โดยมีความหมายแสดงว่าจะ “ไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมรับ ไม่กระทำ” ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และร่วมกันเป็นหูเป็นตา เมื่อพบเห็นการกระทำรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวสามารถแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์ประชาบดี โทร ๑๓๐๐ ทั่วประเทศ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ