นางพรรณี จารุสมบัติ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายในสิ้นปี 2553 นี้ จะมีการบังคับใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการกำหนดให้โรงงานต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย และการติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ โดยโรงงานที่มีปริมาณน้ำทิ้งตั้งแต่ 500-3,000 ลูกบาศก์เมตรต้องปฏิบัติตาม ซึ่งตามประกาศนี้มีโรงงานที่อยู่ในข่ายกว่า 400 โรง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงสนับสนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ดำเนินการพัฒนาอุปกรณ์วัดคุณภาพน้ำหรือเครื่องวัดค่าซีโอดีแบบออนไลน์ขึ้น ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบตรวจวัดค่าซีโอดีระบบออนไลน์สำหรับอุตสาหกรรม ฟอกย้อม พิมพ์ ตกแต่งสำเร็จ และอุตสาหกรรมอาหาร” เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายการบังคับใช้ประกาศกระทรวงฯ และจะช่วยให้สามารถรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตฯ ไทยได้อย่างยั่งยืนเหนือคู่แข่งต่อไป
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “ภายใต้โครงการฯ มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายที่ต้องติดตั้งเครื่องซีโอดี จำนวน 5 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทโรงงานฟอกย้อม พิมพ์ผ้า จำนวน 55 โรง 2) ประเภทโรงบำบัดน้ำเสียรวม จำนวน 37 โรง 3) โรงผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ จำนวน 33 โรง 4) โรงผลิตเยื่อ กระดาษ จำนวน 21 โรง และ 5) โรงทำยางพารา จำนวน 16 โรง รวมทั้งสิ้น 162 โรงงาน โดยขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมมีการเตรียมความพร้อม ด้วยการสั่งซื้ออุปกรณ์วัดค่าซีโอดีแบบออนไลน์จากต่างประเทศมาติดตั้งไปแล้วบางส่วน ซึ่งมีราคาสูงอยู่ระหว่าง 8 แสน-1.2 ล้านบาทเพราะเป็นอุปกรณ์ต้องสั่งการนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้น สศอ.จึงต้องเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดภาระต้นทุนการติดตั้งเครื่องซีโอดีจากต่างประเทศ และเป็นแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีจากฝีมือคนไทยให้ผู้ประกอบการได้ใช้อีกด้วย โดย มจธ.มีความชำนาญเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้ประกอบการอยู่แล้วจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถยกระดับเทคโนโลยีเครื่องซีโอดี ให้มีคุณภาพเทียบเท่าหรือเหนือกว่าเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศได้แน่นอน”
นางสุทธินีย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการเพิ่มจำนวนของโรงงานอุตสาหกรรม มีการขยายเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น ภาครัฐจึงได้กำหนดนโยบายเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ผลักดันและนำไปสู่การปฏิบัติรวมถึงออกกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตต้องมีการปรับตัวให้เป็น Green Manufacturing ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก โดยประเทศคู่ค้าสำคัญทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก หากไม่มีการปรับตัวจะเสียโอกาสในการแข่งขันอย่างน่าเสียดาย ในขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมย่อมเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบเพื่อนบ้านย่านอาเซียนด้วยกัน
รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า โครงการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นหัววัดค่าซีโอดีสำหรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถวัดค่าซีโอดีได้แบบออนไลน์ตามข้อกำหนดของกรม (ส่งข้อมูลได้ทุกๆ 30 นาที) โดยตัวเซ็นเซอร์มีเอาท์พุทเป็นสัญญาณไฟฟ้าแบบอนาล็อก 4-20 mA ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับระบบเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ ตัวเซ็นเซอร์เป็นแบบอิเล็กโตรเคมิคัล ซึ่งอาศัยหลักการวัดผลตอบสนองของกระแสไฟฟ้าจากอิเล็กโทรดที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ ซึ่งค่าที่วัดได้ของกระแสจะแปรผันตาค่าซีโอดีของตัวอย่างน้ำที่ทำการตรวจวัดหัววัดซีโอดีที่พัฒนาขึ้นใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทยโดยเพิ่มมูลค่าให้กับการพัฒนาระบบฝังตัว (Embedded System) ที่จะนำมาใช้ในการประมวลผลสัญาณและคำนวณค่าซีโอดีจากเซ็นเซอร์พื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ซึ่งสามารถทำการบำรุงรักษาได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากการทดสอบใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยได้ทดลองติดตั้งอุปกรณ์ในโรงงาน 2 แห่ง (โรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมฟอกย้อมและพิมพ์ผ้า 1 แห่ง และโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 1 แห่ง) สามารถวัดค่าซีโอดีของน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมตามข้อกำหนดของกรมโรงงานอุตสาหกรรม