นายสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานว่า ในปี 2553 นี้ ส.อ.ท. และ กพร. มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันให้มากขึ้น โดยเน้นไปในด้านการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่ความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมร่วมกันจัดทำหลักสูตรและมาตรฐานวิชาชีพตามกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเตรียมขยายไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ได้เตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง ส.อ.ท. และ กพร. เพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จัดอบรม-ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ออกใบรับรองตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อชะลอการเลิกจ้างให้แก่สถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจำนวน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ โดยจะจัดทำเป็นมาตรฐานฝีมือแรงงานนานาชาติเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าด้วย และยังเน้นในเรื่องของการให้บริการสมาชิกเกี่ยวกับการขอรับสิทธิประโยชน์จากการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
“ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนเพราะคนคือปัจจัยการผลิตเพียงอย่างเดียวที่ประเทศไทยมี และหากเราเปิดเสรีทางการค้ากับต่างประเทศ จะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างเสรี แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ มีความสามารถหลากหลายทั้งด้านความรู้ ทักษะที่จำเป็นทั้งในเรื่องงานและวิชาชีพทำให้ธุรกิจเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด มีต้นทุนต่ำสุด และส่งมอบงานให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นหัวใจของการประกอบธุรกิจ ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน เชื่อว่าจะช่วยให้แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีศักยภาพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างแน่นอน”
นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวเสริมว่า “ขณะนี้กรมฯ ได้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 โดยเพิ่มบทนิยามคำว่า “การประเมิน” “ผู้ประเมิน” “การรับรองความสามารถ” “หนังสือรับรองความสามารถ” และ “องค์กรวิชาชีพ” เพื่อให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการรับรองความสามารถ และมีอำนาจประกาศกำหนดสาขาอาชีพหรือตำแหน่งงาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้นหากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะทำให้ผู้ที่ต้องประกอบอาชีพที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะหรืองานที่ต้องใช้ผู้ที่มีความสามารถเฉพาะด้าน ต้องมีใบรับรองความสามารถ จึงจะประกอบอาชีพดังกล่าวได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรและเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบกิจการ ในการเลือกใช้คนที่มีความสามารถได้อีกทางหนึ่ง”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-9