กระทรวงทรัพย์ฯ เปิดเวทีหาแนวทาง รับมือวิกฤติการกัดเซาะชายฝั่ง

จันทร์ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๐ ๑๕:๐๓
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเวทีหาแนวทางป้องกันและแก้ไขวิกฤติการกัดเซาะชายฝั่ง จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 07.30 — 16.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงานถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งว่า ปัจจุบันประชากรโลกเกือบ 600 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล กำลังเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลกำลังเป็นวิกฤติการณ์ในระดับโลก หรือ Global Crisis ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของ UN-Habitat ที่ชี้ให้เห็นว่า มีชุมชนเมืองประมาณ 3,300 เมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยซึ่งมีความยาวประมาณ 2,800 กิโลเมตร มีชุมชนเมืองหนาแน่น เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรประมาณกว่า 12 ล้านคน และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาทิ การเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงชายฝั่ง การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งประกอบด้วย ป่าชายเลน ปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล ประมาณกว่า 1,250 แห่ง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า แนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ประมาณ 600 กิโลเมตร หรือร้อยละ 23 ของแนวชายฝั่งทะเลของประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะ คิดเป็นพื้นที่ที่สูญเสียเนื่องจากถูกกัดเซาะไปแล้วประมาณ 113,000 ไร่ โดยจังหวัดที่มีอัตราการกัดเซาะรุนแรงเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี ซึ่งจัดเป็นพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน มีทั้งสิ้น 13 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 180 กิโลเมตร หรือประมาณ ร้อยละ 11 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทั้งนี้ ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบน (รูปตัว “ก”) ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและมีการกัดเซาะขั้นรุนแรงมากที่สุด ในอัตรามากกว่า 10-20 เมตรต่อปี ในส่วนของพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีการกัดเซาะรุนแรงในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี ใน 5 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ระยะทางรวม 23 กิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 2 ของแนวชายฝั่งอันดามัน

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมาจากการกระทำของธรรมชาติ ทำให้เกิดคลื่นลม และพายุที่รุนแรง สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การกระทำของมนุษย์ เช่น การบุกรุกทำลายป่าชายเลน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท ท่าเรือ และอาคารบ้านเรือน ล่วงล้ำลงไปในทะเล กีดขวางการไหลของกระแสน้ำ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่ได้มีการสร้างขึ้นเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่

นอกจากจะเผชิญกับวิกฤติปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยยังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) เมื่อปี 2007 (พ.ศ. 2550) ชี้ว่า ชุมชนเมืองชายฝั่งทะเลของประเทศไทย มีความเสี่ยงต่อการเกิดการกัดเซาะ แนวชายฝั่งทะเลถอยล่น และถูกน้ำทะเลท่วม โดยพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เนื่องจากมีการทรุดตัวของแผ่นดินเป็นปัจจัยเสริม โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ 1 ใน 12 เมืองของโลก ที่มีประชากรอยู่อาศัยและเข้ามาประกอบอาชีพประมาณ 10 ล้านคน จะมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำทะเลท่วมมากขึ้น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาวิเคราะห์เหตุการณ์จำลอง หรือ Scenarios ผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นต่อสภาพการใช้ที่ดินชายฝั่งทะเลของประเทศไทยในเบื้องต้น พบว่า ในกรณีที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร จะมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดต่างๆ รวม 25 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นพื้นที่ที่อาจถูกน้ำท่วมประมาณ 3 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายของที่ดินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยจังหวัดที่มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร รองลงมาได้แก่ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช และสงขลา ตามลำดับ จากการศึกษาเมื่อปี 2009 (พ.ศ. 2552) ของ World Wide Fund For Nature (WWF) และบริษัท Allianz ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าความเสียหายของสินทรัพย์ (Assets) จากผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท โดยกรุงเทพมหานครเป็นชุมชนเมืองใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก คิดเป็นเป็นมูลค่าประมาณ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน โดยการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 20 ปี เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 โดยมีเป้าหมายหลักที่จะให้มีระบบป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อมิให้มีการกัดเซาะเพิ่มขึ้น ภายในปี 2570 มีระบบฐานข้อมูลเพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนในบทบาท หน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมทั้ง มีนโยบาย แนวทาง มาตรการในการดำเนินงานระดับพื้นที่ที่อยู่ในกรอบของแผนยุทธศาสตร์เดียวกัน ตลอดจนเสริมสร้าง ถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ให้สาธารณชน จัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบนโยบายในการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจัดทำแผนหลัก แผนปฏิบัติการ และศึกษาออกแบบรูปแบบการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในระดับพื้นที่บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนบน และอ่าวไทยตอนล่าง ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันอยู่ระหว่างดำเนินการ อีกทั้งยังได้จัดตั้งหน่วยงานระดับสำนักขึ้นภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อปฏิบัติงานและรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และการวิจัยทางด้านสมุทรศาสตร์ และจัดทำแผนสนับสนุนทุนการศึกษาบุคลากรระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และการวิจัยทางด้านสมุทรศาสตร์ รวม 8 สาขาวิชา จำนวน 95 ทุน เพื่อให้สำนักงาน ก.พ. และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้การสนับสนุน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 จนสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในปี 2559

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอเรื่อง แนวทางการบูรณาการการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานปฏิบัติที่กำกับดูแลการอนุญาต ควบคุม และใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณและหน่วยงานติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้มอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมวิชาการระดับชาติ (National Conference) ในเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี กระทรวงฯ จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมการจัดประชุมระดับชาติและระดับภูมิภาคในปี 2553 เป็น 3 การประชุม ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน” ในครั้งนี้ การประชุมวิชาการระดับชาติในเรื่อง การกัดเซาะชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล เพื่อเป็นเวทีระดมสมอง และนำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่ได้ดำเนินการในประเทศไทย ให้เกิดการพัฒนา แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและวิชาการใหม่ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะจัดให้มีขึ้นในราวเดือนมิถุนายน 2553 และการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติในเรื่อง การกัดเซาะชายฝั่งทะเลและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล เพื่อเป็นเวทีพัฒนาบุคลากรของประเทศให้ได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การศึกษาวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญของโลกในการพัฒนาแนวคิด เทคนิคและวิธีการใหม่ๆ เกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามของระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะจัดให้มีขึ้นในราวเดือนพฤศจิกายน 2553

การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน” ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลต่างๆ ของพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดของประเทศไทย และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 500 คน ให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ ผลกระทบ และแนวทางในการป้องกัน แก้ไข ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น และเพื่อเป็นเวทีประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ชุมชนเมืองชายฝั่งทะเลที่กำลังประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยประสานงาน เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะ แนวทาง และกรอบแผนงบประมาณเร่งด่วน เสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณ และวิชาการในการป้องกัน แก้ไข ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อย่างเป็นรูปธรรม ทันต่อสถานการณ์ และตรงกับความต้องการของชุมชนเมืองในพื้นที่มากที่สุด

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบและบูรณาการนโยบายและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ถือได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติ หรือ National Agenda เนื่องจากมีประชากรและชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลมากกว่า 12 ล้านคน และเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ของฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สาเหตุของปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติมีความรุนแรงและหลากหลายกว่าในอดีต เนื่องจากในปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างเข้มข้น และขาดการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้สาเหตุของปัญหามีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แนวทางการบูรณาการนโยบายและการปฏิบัติ โดยใช้ยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 20 ปี และยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเครื่องมือในการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งแนวนอนและแนวดิ่ง ถือว่าการทำงานสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม การแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในลักษณะของแผนปฏิบัติการนั้น ต้องมีแผนงาน โครงการ/กิจกรรม งบประมาณ พื้นที่เป้าหมาย และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน แต่เนื่องจากการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการโดยประชาชนในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ จากส่วนกลาง มีทั้งใช้มาตรการเชิงวิศวกรรม และมาตรการแบบธรรมชาติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาทางวิชาการให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก ไม่เป็นแบบ “ต่างคนต่างทำ” เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องของโลกร้อนนั้น เราได้ใช้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยในการเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน จำเป็นต้องมีการทบทวนถึงความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรคของการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของพื้นที่ด้วยเช่นกัน และที่สำคัญก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการในการอนุวัตการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อนุสัญญาแรมซาร์ และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย เนื่องจากอนุสัญญาเหล่านี้ต่างสอดคล้องและเชื่อมโยงกันในหลายๆ มิติ ประโยชน์ที่จะได้คือ การอนุวัตการตามอนุสัญญาภายในประเทศจะมีทิศทางสอดคล้องกัน มีความเข้มแข็ง

ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และการปฏิบัติในระดับพื้นที่ ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการใช้จ่ายงบประมาณ ลดความสับสนในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้ จะเป็นการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกให้มีความชัดเจนขึ้น และจะส่งผลต่อการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในเวทีการเจรจา รวมทั้งสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน จึงเป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการในหลายมิติเข้าด้วยกัน ซึ่งในการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 15 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์กนั้น ก็ได้รับทราบรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ถึงความสำคัญของเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะ หรือประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเลก็พูดถึงเรื่องนี้กันมาก และก็เป็นประเด็นที่หนึ่งที่ทำให้การเจรจาเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยืดเยื้อออกไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการพัฒนากฎหมายรองรับการปฏิบัติตามนโยบาย ว่า เมื่อหน่วยงานต่างๆ ได้บูรณาการนโยบายและการปฏิบัติเข้าด้วยกันแล้วคงต้องพิจารณาในส่วนของกฎหมายที่จะรองรับการปฏิบัติด้วย เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและแต่ละหน่วยงานต่างก็มีกฎหมายที่อยู่ในมือ โดยแต่ละฉบับมีการบังคับใช้ไม่ครอบคลุม

ในทุกกรณี เป็นกฎหมายเฉพาะภารกิจของหน่วยงาน ขาดการบูรณาการเพราะมีลักษณะการบังคับใช้เฉพาะเรื่อง และแยกส่วนอย่างชัดเจน จึงก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติตามมา

อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นตัวตั้ง จึงเป็นกฎหมายที่มีมุมมองในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญและอาจเป็นความหวังของชุมชนชายฝั่ง ที่จะได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหากับภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวด 2 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนและการจัดการร่วมกันอย่างบูรณาการ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในส่วนที่ 2 มาตรา 66 และ 67 ที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน เท่าที่รับทราบขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ในขั้นตอนรอการแจ้งยืนยันจากกระทรวงฯ จึงขอให้เร่งดำเนินการเพื่อจะได้นำเสนอต่อสภาต่อไป เพราะหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภาและประกาศใช้ ประเทศไทยก็จะถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ามากประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีกฎหมายในการบริหารจัดการชายฝั่งทะเลเป็นการเฉพาะ เช่นเดียวกับในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมาย “Coastal Act” และ “Coastal Zone Management Act” ประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมาย “Coast Act” หรือเครือรัฐออสเตรเลียที่มีกฎหมายการจัดการชายฝั่งเฉพาะของแต่ละรัฐ

สำหรับการเตรียมความพร้อมขององค์กร บุคลากร และระบบข้อมูลสารสนเทศ นั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อน หน่วยงานเหล่านี้ ประกอบไปด้วย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล คือ การพิจารณาถึงโครงสร้างขององค์กรในปัจจุบันว่า สามารถที่จะรับมือกับสถานการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตได้หรือไม่ เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนได้ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ รวมทั้งในระดับโลก

“ผมมีความมั่นใจว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและปัญหาภาวะโลกร้อน จากการที่ได้มีการจัดตั้งสำนักการจัดการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อศึกษาวิจัย และสำรวจการกัดเซาะชายฝั่ง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และจัดตั้งศูนย์สมุทรศาสตร์ เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกำหนดแนวทาง และมาตรการคุ้มครอง ป้องกัน แก้ไข และบรรเทาผลกระทบทางทะเลที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพสมุทรศาสตร์

ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่โดยการขอรับการสนับสนุนทุนการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาของประชาชน เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การรับมือกับปัญหาดังกล่าวนั้น ต้องเตรียมความพร้อมของทรัพยากรบุคคลในชุมชนชายฝั่งให้พร้อมรับมือกับผลกระทบในอนาคตด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนชายฝั่งได้มีความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตต่อไปและอาจอยู่ในช่วงที่ปัญหาภาวะโลกร้อนถึงจุดที่โลกไม่สามารถปรับตัวและรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ สิ่งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ดังเช่น โครงการลูกเสือสิ่งแวดล้อมและลูกเสือสมุทร แสดงให้เห็นว่ากระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาในระยะยาวเป็นการล่วงหน้าไว้แล้ว จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และรัฐบาลก็เห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าว และรัฐบาลจะสนับสนุนต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อเดือนธันวาคม 2551 นโยบายสำคัญข้อหนึ่ง คือ นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการจัดให้มีระบบการป้องกัน รวมทั้งการเตือนภัยและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ โดยนำระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้ในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยหรือเตือนภัย พัฒนาระบบฐานข้อมูล และติดตั้งระบบเตือนภัย และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานอันจำเป็นและเกี่ยวข้อง ในพื้นที่ที่เปราะบางหรือเสี่ยงต่อภัยพิบัติอันเกิดจากโลกร้อน เช่น พื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมทั้งพื้นที่ชุมชนเมืองชายฝั่งทะเลที่มีประชากรหนาแน่น รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญ กรณีเหตุการณ์จำลอง หรือ Scenario ของระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น 1 เมตร จะเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3 ล้านล้านบาท ที่ท่านรัฐมนตรีได้รายงานให้ทราบในเบื้องต้น นั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำไปขบคิด ว่าเราจะต้องเตรียมการอย่างไรในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ดังเช่นกรณีของมหานครลอนดอน ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการจัดทำแผนการปรับตัวและรับมือผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้นไว้แล้ว โดยแผนดังกล่าวได้เสนอทางเลือกให้แก่ชุมชนทุกชุมชนที่จะได้รับผลกระทบพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกแผนและแนวทางการปรับตัวหรือการเตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และนำเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจ ก็นับเป็นตัวอย่างการเตรียมพร้อมที่ดีที่เราควรจะต้องไปศึกษาเรียนรู้เป็นตัวอย่างเพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศของเราต่อไป

โดยนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมช่วยผลักดันให้เกิดการบูรณาการข้อมูลแบบครบวงจรตั้งแต่การศึกษาสำรวจสถานการณ์และพื้นที่ที่ประสบปัญหา สาเหตุของปัญหา รูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหา การติดตามประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนผลกระทบทั้งก่อนและหลังการดำเนินการ ในลักษณะของศูนย์เครือข่ายแลกเปลี่ยนและบริการข้อมูล หรือ Clearinghouse ให้เกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งในระบบข้อมูลของ Clearinghouse นั้น จะต้องมีข้อมูลนวัตกรรมท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการประสบผลสำเร็จในการป้องกันแก้ไขปัญหาไว้ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุน หรือขยายผลต่อไปได้ และสอดคล้องกับแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ให้ใช้หลักการ “ธรรมชาติสู้ธรรมชาติ” ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว และขอให้เพิ่มการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลในทางวิชาการให้ชัดเจนก่อนขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่น

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อไปถึงเรื่องการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณ ว่าการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่หน่วยงานต่างๆ ได้พยายามในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญประการหนึ่ง คือ การติดตามและประเมินผลของความสำเร็จที่เกิดขึ้น ในอดีตที่ผ่านมา เราอาจเห็นโครงการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐที่ได้ดำเนินการในพื้นที่แล้วก็ทิ้งให้ประชาชนในพื้นที่รองรับปัญหาที่ติดตามมาแต่เพียงลำพัง แต่การดำเนินงานในลักษณะของ “สร้างแล้วทิ้ง” ไม่สามารถนำมาใช้กับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ถูกสร้างทั้งในทะเลและพื้นที่ชายฝั่งหากขาดการติดตามและประเมินผล ก็อาจนำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ติดตามเป็นลูกโซ่ไม่จบสิ้น และอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งอาจนำไปสู่การ “ปฏิเสธ” โครงการของรัฐที่จะลงไปแก้ไขปัญหาของชุมชนในอนาคต อย่างเช่น กรณีที่เกิดขึ้นแล้วกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของประเทศที่ทุกท่านทราบดี ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงต้องมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง การติดตามประเมินผลความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในช่วงที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณของแผ่นดินเป็นจำนวนมากในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การดำเนินการดังกล่าว มีหลายหน่วยงานที่ได้ใช้งบประมาณทั้งจากหน่วยงานส่วนกลาง รวมทั้งหน่วยงานในระดับท้องถิ่น การประเมินความคุ้มค่าที่ผมกล่าวถึงนั้นมิได้จำกัดแต่ในเรื่องของตัวเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางด้านสังคมจากการดำรงรักษาวิถีชีวิตชุมชนไว้ได้ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของโครงสร้างการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ทั้งที่เป็นโครงสร้างทางวิศวกรรม และที่เป็นแบบธรรมชาติ เพื่อวิเคราะห์ความถูกต้องทางวิชาการ ศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุนด้านงบประมาณของประเทศในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและปัญหาภัยคุกคามจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาล ในขณะเดียวกันในอนาคตก็ยังคงมีความท้าทายอีกหลายเรื่องที่เราต้องเผชิญปัญหาร่วมกันอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความผันผวนอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากปัจจัยธรรมชาติ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางด้านการเมือง ทำให้เป็นที่คาดการณ์ได้ว่ายังมีอีกหลายปัญหาที่เราต้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับอุบัติการณ์ใหม่ๆ แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างความเข้มแข็งของสังคมในการเผชิญกับสิ่งท้าทายเหล่านั้น หากเราสามารถทำให้เกิดพลังร่วม เจตนารมณ์ร่วมในสังคมได้นั้นจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติ บ้านเมือง

“สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำต่อไป คือการนำทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าจากทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของชาติ ถ้าเราสามารถที่จะเชิญทรัพยากรทางปัญญาเหล่านี้มาช่วยงานเราหรือมาเป็นภาคีความร่วมมือได้ ผมมั่นใจได้ว่า ประเทศไทย สังคมไทยก็จะฟันฝ่าวิกฤติปัญหาไปได้ และขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำกรอบแผนงบประมาณที่จะได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ ไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดแผนงาน โครงการ/กิจกรรม งบประมาณ พื้นที่เป้าหมาย และผู้รับผิดชอบ ไปบูรณาการกับกรอบแนวทางและมาตรการของยุทธศาสตร์ดังกล่าว รวมทั้งแนวทาง มาตรการ และแผนงานโครงการที่ได้ศึกษาไว้ในแผนหลักและแผนปฏิบัติการรายภาคที่ดำเนินการเสร็จแล้วต่อไป ” นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่สุด

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ คปภ. เปิดตัวคู่มือการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย แนะแนวทางการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม
๑๖:๒๖ SiteMinder เผย โรงแรมไทยเติบโต ก้าวเป็นผู้นำตลาด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศ
๑๗:๕๙ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้การต้อนรับ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ
๑๖:๐๐ fintips by ttb เผยเคล็ดลับ รถใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเราที่สุด
๑๖:๐๐ มาแล้ว! เปิดตัว Samsung Galaxy S25 ซีรีส์ใหม่ล่าสุด มาพร้อม Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย ตอบโจทย์รู้ใจทุกความต้องการเฉพาะคน
๑๖:๐๐ กทม. เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำ ลดผลกระทบเกษตรกร-แปรรูปสร้างรายได้
๑๖:๐๐ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนยิ่งใหญ่ Chinese Market 2025 ช้อปสินค้ามงคล เสริมดวงโชคดีมั่งมี
๑๖:๐๐ SNPS ต้อนรับ คณะผู้บริหารและนักวิจัยสภากาชาดไทย
๑๕:๒๔ BEST Supply Chain ยกระดับจัดการคลังสินค้ายุคใหม่ ชู BEST Fulfillment เพิ่มประสิทธิภาพจัดการสินค้า จบครบในที่เดียว
๑๕:๐๐ เด็กซ์ซอนผนึกกำลังภาคีเครือข่าย TCCA ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero