ดร. สันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการคนใหม่ ของ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทริส) และบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 แถลงวิสัยทัศน์ที่จะนำพาองค์กรซึ่งปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในธุรกิจประเมินผลการดำเนินงานและธุรกิจจัดอันดับเครดิต โดยในส่วนของธุรกิจประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งดำเนินงานโดยทริสนั้น ดร. สันติได้วางแนวทางการดำเนินงานให้มีการขยายกลุ่มของลูกค้าไปยังภาคเอกชน จากเดิมซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่คือ หน่วยงานภาครัฐ โดยคาดว่าจะเพิ่มบทบาทด้านการเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยง การประเมินและจัดทำรายงานคุณภาพระบบตรวจสอบภายใน (Quality Assessment Report-QAR) การวางระบบบริหารผลงาน (Performance Management System) ที่ปรึกษาด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงที่ปรึกษาด้านการประเมินแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร
สำหรับธุรกิจจัดอันดับเครดิตซึ่งดำเนินงานโดยทริสเรทติ้งนั้น ได้ให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยและได้ให้บริการจัดอันดับเครดิตแก่บริษัทต่างๆ มาแล้วกว่า 280 ราย นับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา รวมเวลาที่ทำธุรกิจด้านนี้มากว่า 16 ปี ถือเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตแห่งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งที่มีการประกาศผลต่อสาธารณะรวมทั้งสิ้น 82 แห่ง ครอบคลุมลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน สื่อสารโทรคมนาคม ก่อสร้าง ขนส่ง การเกษตร อาหาร เครื่องดื่ม และกลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ ลิสซิ่ง เช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ลูกค้าของทริสเรทติ้งยังมีทั้งที่เป็นบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย
ทริสเรทติ้งมีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกขับเคลื่อนตลาดทุนของประเทศ ในฐานะเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตที่ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทต่างๆ ทั้งที่ออกตราสารหนี้ หรือไม่ได้ออกตราสารหนี้ เพราะนักลงทุนสามารถนำความเห็นของทริสเรทติ้งในรูปของอันดับเครดิตที่ประกาศแก่บริษัทต่างๆ ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนซื้อตราสารหนี้ หรือปล่อยกู้แก่บริษัทนั้นๆ ได้
ดร. สันติ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า บทบาทของทริสเรทติ้งเริ่มขยายขอบเขตมากขึ้น โดยทริสเรทติ้งได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตภายนอก หรือ ECAI (External Credit Assessment Institution) มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งทำให้ธนาคารต่างๆ สามารถนำอันดับเครดิตของเราไปใช้ในการคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงตามหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำตาม BASELII ได้ นอกจากนี้ บทบาทของทริสเรทติ้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต เนื่องจากการเกิดขึ้นของเครื่องมือในการระดมทุนใหม่ๆ ในอนาคตอันใกล้ เช่น การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) หรือตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ก็น่าจะทำให้ความต้องการใช้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลแก่นักลงทุน นอกจากนี้ ความต้องการงานวิจัยให้กับตลาดการเงินก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งการที่ทริสเรทติ้งมีความชำนาญในตลาดการเงินมาอย่างยาวนานจะทำให้สามารถเข้าใจกลไกตลาดเงินได้อย่างลึกซึ้ง รวมทั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางจะทำให้สามารถให้บริการด้านนี้ได้อีกด้วย ดังนั้น ทริสเรทติ้งจะสามารถตอบสนองต่อทุก
บทบาทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดทุนได้อย่างดี
ขอบเขตการให้บริการของทริสเรทติ้งในปัจจุบันยังคงเน้นการให้อันดับเครดิตแก่บริษัทที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยแต่ในอนาคต ความร่วมมือในระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลกจะเพิ่มขึ้น ซึ่งทริสเรทติ้งมีความพร้อมในการพัฒนาสู่การเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันทริสเรทติ้งก็มีความร่วมมืออยู่แล้วกับสถาบันจัดอันดับเครดิตในภูมิภาคเอเชีย ที่เรียกว่า Association of Credit Rating Agencies in Asia (ACRAA) และทริสเรทติ้งก็ยังเห็นความเป็นไปได้ในการขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อีกด้วย
ดร. สันติยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะอาหารทะเลส่งออก อุตสาหกรรมสื่อสารโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ และอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัวในปี 2552 แม้ว่าผลกระทบอาจจะยังไม่มากนักโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย โทรศัพท์มือถือ และโรงไฟฟ้า เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างมีความระมัดระวังในการบริหารการเงินเป็นอย่างดี ทำให้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากนัก อย่างไรก็ดี ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุนในประเทศ และมีผลใหก้ ารดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งหากเหตุการณ์เช่นนี้ยังดำเนินอยู่ต่อไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ในประเทศใน
ระยะยาวได้
ในส่วนของอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยนั้น ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 จำนวนที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนใหม่เฉพาะในส่วนที่สร้างโดยผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 15% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากจำนวนของคอนโดมีเนียมที่สร้างเสร็จ ในขณะที่ความต้องการซื้อบ้านได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการจราจลในเดือนเมษายนเมื่อปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่อยู่อาศัยทำให้รายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบทั้งด้านเงินทุน ความสามารถในการแข่งขัน และความน่าเชื่อถือที่มีมากกว่ารายย่อย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาอัตรากำไรไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) ของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัย 20 รายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 17% เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2551 ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีแนวโน้มที่จะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นท่ามกลางสภาพอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งปัจจุบันมีอยู่ 11 บริษัท โดยมีอันดับเครดิตองค์กรอยู่ระหว่าง BBB-/Stable ถึง A/Negative ผู้ประกอบการส่วนมากไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัวในปี 2552 และต่างก็สามารถรักษาอัตรากำไรและภาระหนี้ได้ในระดับดี เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างมีความระมัดระวังในการลงทุนและการใช้จ่าย แนวโน้มอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยในปี 2553 นั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสงบเรียบร้อยของสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมือง รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งเชื่อว่าจำนวนที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนใหม่ของผู้ประกอบการในปี 2553 น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่มากกว่าปีที่แล้ว
โทรศัพท์มือถือเป็นอุตสาหกรรมที่เริ่มเข้าสู่ระดับอิ่มตัวมาตั้งแต่ปี 2548 เห็นได้จากการชะลอตัวของอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้และจำนวนเลขหมาย รายได้ของผู้ประกอบการจากการให้บริการโทรศัพท์ในปี 2552 ลดลงประมาณ 2%- 3% ซึ่งถือเป็นการลดลงของรายได้เป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมนี้ ผู้ประกอบการต่างต้องเผชิญกับสภาพการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงโดยเห็นได้จากอัตราค่าโทรศัพท์ที่ลดลง ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น แนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้ในปี 2553 น่าจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการน่าจะขยายตัว และรายได้จากบริการเสริมน่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมในปี 2553 จะขึ้นอยู่กับความชัดเจนของนโยบายของรัฐบาลทั้งในเรื่องการออกใบอนุญาต 3G การจัดตั้ง กสทช. และข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้สัญญาสัมปทานของเอกชน ในปัจจุบัน ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตแก่บริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AA/Stable) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (A+/Stable) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BBB/Stable)
อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้านั้นจัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอิสระ (IPP) เนื่องจากโครงสร้างของสัญญากำหนดให้ขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด โดยโครงสร้างราคาจะครอบคลุมผลตอบแทนการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ ในปี 2552 อุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบจากการใช้ไฟที่ลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับการตรึงราคาต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (Ft) ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งกระทบต่อผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เป็นส่วนมาก แม้ว่า IPP จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เนื่องจากลักษณะของสัญญาดังที่กล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ดี ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในปี 2552 ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ แนวโน้มปี 2553 อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของความต้องการไฟฟ้าจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงก็ยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าให้ได้ตามสัญญา และการบริหารด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ผู้ผลิตไฟฟ้าที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งในปัจจุบันได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (AA/Stable) บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด (อันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกัน AA-/Stable) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (AA-/Stable) บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (A/Stable) และบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด (BBB/Stable)
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารส่งออกนั้น ได้รับผลกระทบจากปัญหาภายนอกซึ่งได้แก่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2552 เศรษฐกิจโลกหดตัว 0.8% จากที่เคยโต 3% ในปี 2551 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าเกษตรประเภทอาหารของไทย มูลค่าการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปในปี 2552 ลดลงประมาณ 2% โดยเป็นการลดลงของปลาทูน่ากระป๋องถึง 15% เนื่องจากราคาปลาทูน่าที่ลดลง ในขณะที่มูลค่าการส่งออกกุ้งแปรรูปและแช่แข็งเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตที่ลดลงในประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม จากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง โดยการส่งออกกุ้งส่วนมากอยู่ในรูปของกุ้งสำเร็จรูป อย่างไรก็ดี ผลประกอบการรวมของผู้ประกอบการอาหารส่งออกที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งที่สำคัญได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (A+/Stable) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (A+/Stable) ต่างมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2552 ในรูปของอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น โดยมีเหตุผลสำคัญมาจากความสามารถของบริษัทในการบริหารต้นทุน การมีตลาดที่กระจายตัวในหลายประเทศ รวมทั้งการมีสัดส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมาก สำหรับแนวโน้มอาหารทะเลส่งออกในปี 2553 นั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าแล้วยังขึ้นอยู่กับ
เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท สภาพภูมิอากาศ โรคติดต่อ ราคาวัตถุดิบ และมาตรการกีดกันทางการค้าด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กรกมล ทวีสิน
โทร. 02-231-3011 ต่อ 218
E-mail: [email protected]