กรุงเทพมหานครแก้ไขน้ำท่วมด้วย “แก้มลิง” ตามแนวพระราชดำริ

อังคาร ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๐ ๑๖:๑๗
น.ส.อัญชลี ปัทมาสวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในฤดูฝนจึงประสบภาวะน้ำท่วมขังและต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่เป็นประจำสาเหตุหนึ่งเกิดจากมีการก่อสร้างอาคารและการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นจำนวนมากและขยายตัวออกสู่พื้นที่ชานเมือง มีผลทำให้พื้นที่ว่างและพื้นที่เกษตรกรรมลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เคยใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลากก่อนที่จะระบายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครวิธีหนึ่งก็คือ การจัดให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากเพิ่มขึ้นทดแทนพื้นที่ที่หายไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดเรื่องการจัดหาพื้นที่ “แก้มลิง” เพื่อรองรับน้ำก่อนที่จะระบายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นดิน ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้น้อมนำแนวคิดตามพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดผล โดยสำนักผังเมืองได้ประสานกรมที่ดิน เพื่อขอแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 ในหมวด 4 เพื่อให้โครงการจัดสรรที่ดิน จัดให้มีพื้นที่แก้มลิงประจำโครงการ เรียกว่า “ระบบการหน่วงน้ำฝน” ซึ่งคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครเห็นว่า อาจจะเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการและผู้ซื้อโครงการ จึงได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางที่จะเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการและประชาชนให้น้อยที่สุด จึงได้ปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดฯ หมวดเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มเติมในส่วนของโครงการจัดสรรที่ดินฯ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยเพื่อจัดจำหน่ายทุกขนาด นอกจากต้องทำระบบระบายน้ำแล้วยังจะต้องจัดให้มีวิธีการจัดทำระบบการหน่วงน้ำฝน โดยให้มีค่าสัมประสิทธิการไหลนองของน้ำฝนเฉลี่ย (ค่า C ) ของน้ำที่จะระบายออกจากพื้นที่โครงการมีค่าไม่เกิน 0.6 โดยถือเป็นความรับผิดชอบของวิศวกรที่จะต้องคำนวณและออกแบบให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครกำลังพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและบรรลุเจตนารมณ์ของกรุงเทพมหานคร

ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดให้มีพื้นที่หน่วงน้ำฝนหรือพื้นที่แก้มลิงของโครงการจัดสรรที่ดินนี้ อาจจะเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการและผู้ซื้อโครงการบ้าง แต่ก็นับว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งถ้าทุกโครงการปฏิบัติตามข้อกำหนด ก็คาดว่าจะบรรเทาปัญหาและความสูญเสียที่เกิดจากน้ำท่วมขังและการระบายน้ำในฤดูฝนที่มีน้ำหลากได้ นอกจากนี้ยังเป็นการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ