“หลังจากการเพิ่มทุนเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ผู้บริหารของทีเอสเอฟซีก็ได้เร่งปรับปรุงระบบการทำงาน การจัดเกรดหุ้นหลักประกัน การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งขณะนี้บริษัทก็มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งดังจะเห็นได้จากที่บริษัทสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้ 10 ล้านบาทในเดือนมกราคมที่ผ่านมา” นายปกรณ์กล่าว
นอกจากนี้ ทางบริษัทได้เร่งการพัฒนาระบบงานเอสบีแอล (การให้กู้ยืมหุ้นเพื่อการขายชอร์ต) ที่ได้ชะงักงันไปในช่วงที่บริษัทมีปัญหาในปลายปี 2551 โดยขณะนี้มีระบบงานด้านคอมพิวเตอร์ ที่จะสนับสนุนธุรกิจด้านนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการทดสอบรวมทั้งระบบ (Integrated testing) “ระบบงานด้านเอสบีแอลของบริษัทเป็นระบบที่จะเชื่อมต่อถึงบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น โดยในเบื้องต้นจะสามารถเชื่อมต่อได้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ของฟรีวิวก่อน แล้วจึงจะขยายไปถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้ระบบอื่นต่อไป โดยเราคาดว่าในส่วนแรกน่าจะเปิดบริการได้ในเดือนเมษายนศกนี้” นางนภาภรณ์ ลัญฉน์ดี กรรมการผู้จัดการกล่าว
ธุรกิจเอสบีแอลจะช่วยทั้งเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์และเป็นโอกาสให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีรายได้เสริมนอกเหนือจากการรอรับเงินปันผลจากการนำหุ้นที่มีอยู่ให้ทีเอสเอฟซียืม ในขณะเดียวกันเอสบีแอล ก็ให้โอกาสนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขายถี่มีโอกาสทำกำไรในช่วงที่ราคาหุ้นอยู่ในขาลง โดยสามารถยืมหุ้นจากทีเอสเอฟซีเพื่อมาทำการขายชอร์ต ได้ ซึ่งหากการขายชอร์ตมีปริมาณมากขึ้นการแกว่งตัวของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็จะแกว่งตัวอยู่ในช่วงราคาที่แคบลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีเสถียรภาพในด้านราคามากขึ้น
ปัจจุบันนี้ นอกจากการให้สินเชื่อมาร์จิ้นโลน ผ่านระบบเครดิตบาลานซ์แก่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ทีเอสเอฟซียังให้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องให้บริษัทหลักทรัพย์ และทำธุรกิจ Repo พันธบัตรกับบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนสถาบันอีกด้วย ซึ่งธุรกิจ Repo ก็เป็นธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก และสามารถใช้เป็นธุรกิจที่เสริมกำไรให้กับบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ อีกโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงแต่อย่างใด