กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--สนพ.
กลุ่มโรงสีข้าวในเครือ “มุ่งเจริญพร” จังหวัดสุรินทร์ ตกลงใจในการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงแห่งแรกในจังหวัดสุรินทร์ โดยจะมีกำลังการผลิตสุทธิ 8.8 เมกะวัตต์ เทียบได้ราวร้อยละ 10 ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดสุรินทร์ และได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่รับซื้อไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) มีระยะสัญญา 21 ปี ไฟฟ้าที่เหลือจะถูกใช้ในขบวนการผลิตข้าวของโรงสี นอกจากนั้นโรงไฟฟ้ายังสามารถผลิตไอน้ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการผลิตข้าวในอนาคต
นายศิริวัฒน์ มุ่งเจริญพร กรรมการผู้จัดการของโครงการ กล่าวว่า บริษัทฯ มั่นใจในความมั่นคงของโครงการ เนื่องจากแกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งหมดจะมาจากโรงสีในเครือ ทำให้ไม่ต้องจัดหารวบรวมแกลบจากที่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าขนส่งและอาจทำให้มีความไม่แน่นอนในปริมาณและราคาของเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีความชำนาญในกิจการประเภทโรงไฟฟ้า จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2546
ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า “จากประสบการณ์ของศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวลในการติดตามการพัฒนาและดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ ร้อยเอ็ดกรีนนั้น เชื่อแน่ว่าจะทำให้โครงการโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์เป็นโครงการตัวอย่างที่ดี เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล”
นายศิริวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า “ในการจัดหาแหล่งสนับสนุนทางการเงินของโครงการ ได้มีสถาบันการเงินหลายแห่งแสดงความสนใจที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการนี้มาโดยตลอด สำหรับการที่ได้ตกลงเซ็นสัญญากับธนาคารไทยธนาคารก็เนื่องจากธนาคารไทยธนาคารได้ให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการมาโดยตลอด ตั้งแต่การเยี่ยมชมสถานที่ตั้งโครงการ การส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวลจัดเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล”
ในส่วนของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) นั้น ธนาคารได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดหาและใช้พลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงให้การสนับสนุน บริษัท มุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์ จำกัด เนื่องจากโครงการนี้ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำทรัพยากรและแหล่งพลังงานจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรภายในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ กระจายรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่น กระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการสูญเสียในระบบส่งไฟฟ้าและเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า และที่สำคัญที่สุด ช่วยประเทศชาติลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในขณะที่น้ำมันที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเกือบทั้งหมดมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนาโครงการ ดร. สุรเชษฐ ธำรงลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล กล่าวว่า “ศูนย์ฯ รับเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาโครงการตั้งแต่ต้นอย่างครบวงจร ทั้งด้านเทคนิค การเงิน การสร้างความเข้าใจกับชุมชน การติดต่อประสานงานกับการไฟฟ้าฯ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และเนื่องจากโครงการนี้มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ศูนย์ฯ จึงให้คำปรึกษาแก่บริษัทฯ ในการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับกลไกการพัฒนาโครงการที่สะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต โดยคาดว่าจะร่วมกับรัฐบาลเดนมาร์กสำหรับการดำเนินการดังกล่าว ในส่วนของการคัดเลือกผู้รับเหมานั้นหลังจากที่ได้ทำการเปิดประมูลไปปรากฏว่ามีบริษัทผู้รับเหมาทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจเป็นจำนวนมากแม้จะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หลังจากทำการพิจารณาแล้วศูนย์ฯ ได้คัดเลือกบริษัท Industrial Power Technology PTE จำกัด จากประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยบริษัท Industrial Power Technology PTE จำกัด เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการสร้างโรงไฟฟ้าหลายแห่ง รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทยและมาเลเซียมาอีกด้วย”
โครงการโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ใช้เงินลงทุน 560 ล้านบาท หลังจากการเซ็นสัญญาเงินกู้กับธนาคารไทยธนาคาร และสัญญาก่อสร้างกับบริษัท Industrial Power Technology PTE จำกัด ในวันที่ 7 เมษายน 2548 ที่ผ่านมา และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2548 และคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ราวเดือนกันยายน 2549--จบ--