เมื่อถามว่า อะไรเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะปฏิรูปเพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤตขณะนี้
หมอวิชัย: “ปัญหาของประเทศไทย เรื่องของเกษตรกรรม เป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่งเพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรมมาช้านาน แต่ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมได้ลดขนาดลงมาก กลายเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่า จะมีสัดส่วนลดลง แต่จำนวนประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมก็ยังมีจำนวนมากอยู่ ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขมากมาย เช่น น้ำทุกปีจะมีคำประกาศจากรัฐบาลไม่ให้ทำนาปรัง เป็นเรื่องของการแย่งทรัพยากรน้ำ รัฐบาลตัดสินใจเมื่อน้ำมีจำกัดและจำเป็นต้องนำไปหล่อเลี้ยงภาคอุตสาหกรรม นำน้ำไปเลี้ยงประชาชนที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมถูกจัดความสำคัญลดลงไป”
“เรื่องศัตรูพืช การใช้สารเคมีทำให้เกษตรกรมีปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัย ชาวไร่ชาวนาตกอยู่ในฐานะที่ต้องต่อสู้ตามยถากรรม ตกเป็นเหยื่อบริษัทเหล่านี้ เสียค่าใช้จ่าย ลงทุนไปกับสารเคมี ขณะเดียวกันก็ทำลายสุขภาพตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย ส่งผลถึงผู้บริโภคโดยรวมด้วย เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข
เรื่องของราคาก็เป็นปัญหาใหญ่ต่อเนื่องมาโดยตลอด พอผลผลิตดีราคาก็ตกต่ำ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโชคเป็นส่วนใหญ่ สินค้าหลายชนิดสัมพันธ์กับตลาดโลก กับข่าวร้าย ปัญหาทั้งเรื่องการผลิต ราคา โครงสร้าง กรรมสิทธิ์ที่ดิน การเช่า เกี่ยวข้องและกระทบต่อคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ให้ทันกับสถานการณ์”
แล้วเกษตรกรไทยจะมีฐานะดี ขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเกษตรกรประเทศอื่น หรือหายจนได้หรือไม่
หมอวิชัย ตอบชัดเจน เป็นไปได้ พร้อมยกตัวอย่าง “เกษตรกรจำนวนมากในประเทศที่เจริญแล้ว เกษตรกรจะไม่จน อย่างน้อยที่สุดลืมหน้าอ้าปากได้ มีฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง ไม่ใช่คนยากจน หรือคนชั้นล่างของสังคม ในประเทศที่เจริญทั้งหลายเกษตรกรผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประเทศ มีโอกาสพัฒนาหลุดจากวงจรความยากจนไปได้”
“ประเทศไทยเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์มีความได้เปรียบ กว่าเกษตรกรในประเทศที่เขาเจริญแต่ภูมิอากาศไม่เอื้อเท่าเรา ของเราภูมิอากาศพอดี ไม่มีภัยธรรมชาติร้ายแรง เราควรจะขยับสถานะเกษตรกรไทยจากฐานะยากจน ขึ้นมาอยู่ในฐานะคนชั้นกลางได้”
สิ่งนี้จะได้เห็น หรือรอคอยอีกสักกี่ปี
หมอวิชัย: “ควรเป็นไปตั้งนานแล้ว แต่ที่แล้วมา เพราะการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนยากจน คนชนบท คนในภาคเกษตรกรรมตลอดมา ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่มีการเก็บค่าพรีเมียมข้าว (ถูกใช้เป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพราคาข้าว) ข้าวของเราส่งออกได้แทนที่จะได้ราคาดี เรากดราคาให้ต่ำ แต่ขายต่างประเทศแพง ทั้งนี้เพื่อให้คนในเมือง บริโภคข้าวในราคาถูก นี่คือนโยบายที่รังแกเกษตรกร ชาวไร่ชาวนามาตั้งแต่ไหนแต่ไร”
“แม้ปัจจุบันจะมีการยกเลิกค่าพรีเมียมข้าวหมดไปแล้ว แต่เราถูกระบบพรีเมียมข้าวทำลายเกษตรกรชาวนา จนสูญเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินไปมากมาย ต่อมาพอมีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา
จนกระทั่งถึงปัจจุบันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ก็มุ่งพัฒนาในเมือง ละทิ้งชนบท จนทำให้เกิดปัญหานอกจากชาวไร่ชาวนาเสียเปรียบ ยากจนอย่างทุกวันนี้ จนกระทั่งชาวนาเป็นเกษตรกรรับจ้าง เปลี่ยนสภาพไปมากมาย ถูกเอารัดเอาเปรียบที่สำคัญ คือว่า ชาวไร่ชาวนาถูกทอดทิ้งทุกอย่าง จนเกิดความแตกแยกของประเทศ เหมือนดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ บอกว่า เป็นการพัฒนาสองนคราประชาธิปไตย อยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้
การแตกแยกมีเสื้อเหลืองเสื้อแดง หลักใหญ่ๆ คือชาวนา คนชนบท ที่เป็นสมาชิกของคนเสื้อแดง เขาถูกละทิ้งภาคเกษตร นี่คือฐาน รากฐานของปัญหาที่ทำให้เกิดความแตกแยกที่สำคัญสุด จึงไม่ใช่ปัญหาปากท้อง ความยากจนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาความมั่นคง ความสามัคคี ความแตกแยกในประเทศ จนอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงได้”
ถึงวันนี้รัฐบาลได้ให้ ความสำคัญกับภาคเกษตรมากพอหรือยัง
หมอวิชัย: “ยังไม่มากพอเท่าที่ควร และเป็นทุกยุคทุกสมัย ซึ่งต้องตั้งหลักใหม่หมด ปฏิรูปกันขนานใหญ่ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่รัฐบาลไม่มีเวลานั่งคิดเรื่องนี้ ทุกอย่างปล่อยไปตามโมเมนตัม (Momentum) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เอาเปรียบราษฎร เอาเปรียบเกษตรกร คนยากคนจน สิ่งนี้ผิดมาโดยตลอด การที่รัฐบาลและพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ไม่มีนโยบายของตัวเอง เลยไปตกอยู่ใต้กรอบ หรือใต้ครอบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ซึ่งมีแต่ทำให้การเอารัดเอาเปรียบเสียเปรียบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
สุดท้ายเมื่อถามถึงการหันมาส่งเสริมเกษตรกรไทยเปลี่ยนมาปลูกพืชพลังงาน หมอวิชัย เห็นว่า ต้องต้องคิดให้ดีๆ ด้วยเหตุผลที่พืชพลังงานกินเนื้อที่มาก “แม้จะขายดี แต่พืชพลังงานกินเนื้อที่มาก ต้องคิดให้ดี คิดทางหนีทีไล่ หรือข้อดีข้อเสียให้ดี เวลาปลูก เช่น อ้อยมาทำน้ำตาล กว่าจะกินหมด แต่พอนำมาเอทานอล เผาไหม้เวลาอันรวดเร็ว ซึ่งผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญต้องคิดเรื่องนี้ให้ดีๆ”