นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ก.เขตห้วยขวาง ฐานะประธานคณะกรรมการโยธาและผังเมือง สภากทม. กล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินงานก่อสร้างและแก้ไขของสำนักการโยธา กทม. อาทิ การทำเกาะกลางถนน หากมีผิวดินตื้นต้นไม้ก็จะหักโค่นง่าย เนื่องจากต้นไม้ยึดเกาะกลางไม่ลึกพอ ดังนั้นสำนักการโยธาควรเข้มงวดให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างให้ได้ตามมาตรฐานกำหนด อีกทั้งในส่วนของโครงการต่างๆ มักจะมีการตรวจพบว่ามีการนำเศษวัสดุก่อสร้างไปถมทำเกาะถนนและปลูกต้นไม้ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ ในขณะที่กรุงเทพมหานครรณรงค์เรื่องการลดภาวะโลกร้อน โดยคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตว่า การปลูกต้นไม้ให้เติบโตเต็มที่จะสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนโยบายปรับปรุงสะพานข้ามทางแยก จำนวน 13 แห่ง ซึ่งมีสภาพการใช้งานมานานกว่า 10-15 ปี ผู้บริหารควรใช้วัสดุที่มีคุณภาพ เพื่อให้สามารถใช้งานได้นาน อีกทั้งการซ่อมแซมสะพานจะทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นสำนักการโยธาควรประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางใด และควรกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่ใช้เส้นทาง
ประธานคณะกรรมการ กล่าวเพิ่มว่า การพิจารณาแนวทางการจัดสรรวัสดุ แอสฟัลต์ ของสำนักงานเขตเพื่อแก้ไขปัญหาถนน ตรอก ซอยในพื้นที่ พบว่ายังประสบปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบางสำนักงานเขตไม่ต้องการเข้าไปเบิกวัสดุที่ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน เนื่องจากอยู่ไกลซึ่งไม่คุ้มค่ากับน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูญเสียไป ควรให้มีการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ โดยกองวัสดุไว้ที่ศูนย์ก่อสร้างฯ ที่เป็นศูนย์กลาง โดยยึดพื้นที่เขตโดยรอบเป็นเกณฑ์ สำหรับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณค่าวัสดุให้กับหน่วย Best ปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ควรพิจารณาสิ่งปลูกสร้างอยู่จริงในพื้นที่ว่ามีมากน้อยเพียงใดด้วย นอกเหนือจากการพิจารณาลักษณะพื้นที่ นอกจากนี้โครงการก่อสร้างถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้า จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโครงการพบปัญหาการทรุดตัวของผิวถนนภายในโครงการทั้งที่ถนนยังไม่ได้เปิดใช้เป็นการถาวร มีปัญหาผิวถนนชำรุด ตั้งข้อสังเกตไม่น่าจะเกิดจากการทรุดตัวของชั้นดิน แต่อาจจะเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานของผู้รับเหมา ทั้งนี้สำนักการโยธาควรติดป้ายประชาสัมพันธ์ และใช้สัญลักษณ์จราจรแจ้งให้ประชาชนทราบว่าถนนมีสภาพชำรุด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้เส้นทางสัญจรไปมาอีกด้วย ทั้งนี้ผู้บริหารควรดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งควรเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงควบคุมเพื่อให้เนื้องานตรงตามแบบที่กำหนดไว้ จึงเป็นภาระหน้าที่สำนักการโยธาต้องคำนึงและเห็นความสำคัญในโครงการที่จำเป็นกับพี่น้องประชาชนอีกด้วย