ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิค (The Japan Bank for International Cooperation: JBIC) จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “The 2009 JBIC Survey Report on Overseas Business Operations by Japanese Manufacturing Companies” ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกเพื่อนำเสนอผลสำรวจแนวโน้มการลงทุนและสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะผลการสำรวจและแนวโน้มการลงทุนในส่วนของประเทศไทยซึ่งจัดทำโดย เจบิค และส่วนที่สองเป็นการเสวนาในหัวข้อ “Thailand: A Promising Country for foreign Companies” โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนทั้งของไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วมการเสวนา
ลำดับแรกนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และนาย Yuhei Ohmi ผู้แทนสำนักงานเจบิคประจำประเทศไทยได้กล่าวเปิดงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา
นางภัทรียากล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็นในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ตลอดจนขอบคุณทางเจบิคสำหรับความร่วมมือในการจัดสัมมนาและนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ ซึ่งรายงานฉบับนี้นำเสนอผลการสำรวจและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ การจัดลำดับความน่าสนใจในการลงทุนในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้ง แนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป ซึ่งผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการไทย เพื่อพัฒนาและรักษาความสามารถในการแข่งขันสำหรับไทย
ในการเป็นฐานการลงทุนสำคัญของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นต่อไป”
นาย Yuhei Ohmi กล่าวว่า “นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับเจบิคที่ได้มีโอกาสนำเสนอรายงานฉบับนี้ และรู้สึกยินดีในความร่วมมือระหว่างเจบิคกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานฉบับนี้นำเสนอผลสำรวจแนวโน้มการลงทุนและสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น และมุมมองของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ครอบคลุมธุรกรรมการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นทั่วโลก ซึ่งเจบิคเชื่อว่าผลสำรวจและวิเคราะห์ในรายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักลงทุนญี่ปุ่นและผู้ประกอบการไทย”
สำหรับเนื้อหาของรายงานซึ่งนำเสนอโดยนาย Susumu Ushida เศรษฐกรอาวุโสและผู้แทนสำนักงานเจบิคประจำประเทศสิงคโปร์ สรุปได้ดังนี้
“รายงายฉบับนี้จัดทำโดยใช้ข้อมูลของปี 2552 ซึ่งได้รวมเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯแล้ว ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพและแนวโน้มการลงทุนที่ดี ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยในปี 2552 ประเทศไทยได้รับการจัดลำดับที่ 4 ปรับสูงขึ้นจากลำดับที่ 5 ในปี 2551 ในการเป็นประเทศที่นักลงทุนและผู้ประกอบการญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุน รองจากจีน อินเดีย และเวียดนาม ตามลำดับ ปัจจัยที่สนับสนุนประเทศไทย คือ ขนาดของตลาดในประเทศ อัตราค่าจ้างที่ต่ำ และการเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก รวมทั้ง ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ประเด็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยคือ สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรในระดับบริหาร และเสถียรภาพการเมือง ทั้งนี้ นาย Susumu Ushida ให้ความเห็นว่าประเทศไทยยังคงมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นในลำดับต้นๆ แต่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้อุปสรรคหรือข้อกังวลที่นักลงทุนประสบอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเสถียรภาพการเมืองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา”
สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “Thailand: A Promising Country for foreign Companies” ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นาย Yo Jitsukata ประธานหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นาย Munenori Yamada ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และนาย Susumu Ushida เศรษฐกรอาวุโสและผู้แทนสำนักงานเจบิคประจำประเทศสิงคโปร์ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร
นายวิรไท สันติประภพได้เริ่มการเสวนาโดยการสอบถามผู้เข้าร่วมเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยจะยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน ด้วยขนาดตลาดในประเทศที่ใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม และภูมิศาตร์ของไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน นอกจากนี้ดร.วิรไท ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนานำเสนอประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยพึงระมัดระวัง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และความท้าทายอื่นๆ สำหรับอนาคต
ทั้งนี้โดยสรุป ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เสนอข้อคิดเห็นดังนี้
นางอรรชกา สีบุญเรืองกล่าวว่า “หากพิจารณาจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอพบว่าในปี 2552 เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 18 โดยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และเกาหลี และหากวิเคราะห์จากข้อมูลการลงทุนจริงพบว่าในครึ่งหลังของปี 2552 มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์เริ่มมีการขยายตัวในช่วงปลายปี 2552 ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับประเด็นที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบด้วยการพัฒนาบุคคลากร โดยเฉพาะการเพิ่มความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและการจัดการ และการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตของไทย อีกทั้ง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่มี technology content มากขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยอาจต้องมีการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป ในการพัฒนานิคมอุตสากรรมแห่งใหม่เพื่อรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต”
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผลให้ความเห็นดังนี้ “ประเทศไทยยังคงมีความได้เปรียบและน่าลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ที่เอื้อต่อการส่งออก และการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโครงสร้างทางการผลิตที่หลากหลาย ที่ประกอบด้วยภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ประเทศไทยประกอบด้วยตลาดภายในประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก และปรับโครงสร้างการผลิตในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ”
นาย Yo Jitsukata ให้ความเห็นโดยสรุปดังนี้ “ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป ควรมีการพัฒนาและปรับปรุงกฏเกณฑ์ ระเบียบ และมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการทางภาษี ระบบศุลกากร ให้เป็นสากล และแข่งขันได้ รวมทั้ง ควรเร่งดำเนินตามนโยบายการสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคสำหรับบริษัทข้ามชาติ (Regional Operating Headquarters) ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว”
นาย Munenori Yamada เสนอความเห็นโดยสรุปดังนี้ “ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการลงทุนที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนญี่ปุ่นมีความกังวลต่อประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ปัญหาความไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบต่างๆ อย่างไรก็ตาม บทบาทของบีโอไอในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ความพยายามของรัฐบาลในการกำหนดกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนให้ชัดเจนขึ้น และปรับปรุงระบบภาษีเพื่อให้แข่งขันได้กับประเทศอื่นๆ จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนต่อไป”