นายประยุทธ โศภิษฐ์พงศธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สินพงศธร จำกัด และบริษัท กระเบื้องแคนนิท จำกัด เปิดเผยว่าตลอด 20 ปีที่แนะนำ SOLAR Slab ให้แก่กลุ่มลูกค้าคอนโดมิเนียมและอาคารสูงจนเป็นที่ยอมรับ จนทำให้ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราปีละ 10 — 12% แต่เนื่องจากบริษัทฯ เล็งเห็นกลุ่มลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อย่างยิ่งคือกลุ่มอาคารพาณิชย์เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องประสบกับปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกปีจากภาวะโลกร้อนโดยตรง โดยปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศในช่วงฤดูร้อนว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าทุกปี คาดว่าอากาศร้อนที่สุดจะอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
“กลุ่มอาคารพาณิชย์ถือเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่มาก แต่การจะเจาะเข้ากลุ่มนี้ได้นั้น จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ก่อนว่าสามารถช่วยลดความร้อนให้เขาได้จริงและต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงด้วย สิ่งที่เราทำมาตลอดก็คือการรุกตลาดคอนโดมิเนียมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นว่า SOLAR Slab นั้นได้รับการยอมรับจากเจ้าของอาคารสูง ซึ่งปัจจุบันเราได้รับการยอมรับจากเจ้าของโครงการและสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารแล้ว จะต้องเอาสินค้าตัวนี้ของเราขึ้นไปไว้ชั้นบนสุดของอาคาร” นายประยุทธกล่าว
SOLAR Slab เป็นแผ่นกระเบื้องซีเมนต์อัดแรงสูงขนาด 30 x 30 (เซนติเมตร) มีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักกดทับได้มากกว่า 200 กิโลกรัม มุมทั้งสี่ของกระเบื้องจะอัดขึ้นรูปเป็นขาสั้นๆ โดยมีเจตนาให้พื้นกระเบื้องจะยกสูงจากพื้นดาดฟ้าภายหลังการปู เพื่อให้เป็นโพรงกักอากาศ เมื่อแดดส่องกระทบ ความร้อนจากแสงแดดจะไม่กระทบกับผิวพื้นดาดฟ้าโดยตรง แต่จะกระทบกับผิวกระเบื้อง หากส่องเป็นระยะเวลานานความร้อนจะถูกถ่ายเทจากผิวกระเบื้องให้กับอากาศในโพรงที่กักไว้ใต้กระเบื้องจนอากาศร้อน อากาศที่ร้อนจะมีน้ำหนักเบาจึงลอยตัวขึ้น อากาศรอบข้างที่เย็นกว่าจะไหลมาแทนที่ตามหลักการถ่ายเทความร้อน (convection) ทางฟิสิคส์ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลา จึงเปรียบเสมือนเกราะป้องกันความร้อนให้กับพื้นดาดฟ้า การใช้แผ่น SOLAR slab ปูบนดาดฟ้าจึงช่วยลดความร้อนของห้องที่อยู่ข้างใต้ และหากมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ก็จะเป็นการช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า เป็นการถอนทุนคืนโดยปริยาย
ผลพลอยได้อื่น ๆ คือ ทำให้พื้นดาดฟ้าไม่แตกร้าวอันเนื่องมาจากการหดตัวขยายตัวจากการได้รับความร้อนโดยตรง หรือหากบนชั้นดาดฟ้าติดตั้งระบบกันซึมไว้ กระเบื้อง SOLAR slab จะเป็นชั้นป้องกันรังสี UV ขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันการขีดข่วน ทำให้ยืดอายุของระบบกันซึมได้หลายเท่าตัว
สำหรับอาคารที่ต้องการทำสวนลอยฟ้าบนชั้นดาดฟ้า ก็สามารถนำกระเบื้อง SOLAR slab มาปูเป็นชั้นรองพื้น ตามด้วยมุ้งไนลอน ก่อนที่จะปูทับด้วย กรวด ถ่านไม้ เปลือกมะพร้าว และกลบผิวบนด้วยดินผสมปุ๋ยหมักเพื่อปลูกต้นไม้ใบหญ้าต่อไป
นายประยุทธกล่าวถึงแผนการตลาดของ SOLAR Slab ว่าจะเน้นการให้ความรู้แก่เจ้าของอาคารเป็นหลัก ซึ่งเป็นกลยุทธที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในกลุ่มสถาปนิก ทั้งนี้เพราะคุณภาพดี ราคาไม่แพง เพียงตารางเมตรละ 198 บาท แต่ได้ผลตอบแทนกลับคืนในรูปของการประหยัดค่าพลังงานที่เกิดจากการใช้เครื่องปรับอากาศของชั้นที่ติดกับดาดฟ้า ขณะเดียวกัน พื้นอาคารจะมีความคงทนมากขึ้นเพราะไม่ได้รับความร้อนโดยตรงจากแสงแดด
นายประยุทธกล่าวว่าการรุกตลาดใหม่ของ SOLAR Slab ครั้งนี้ จะทำให้ยอดขายเติบโตจากปกติปีละ 10-12% มาอยู่ที่15-18 % โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้ เจ้าของอาคารพาณิชย์มีความต้องการนำ SOLAR Slab มาใช้เพื่อบรรเทาความร้อน
“จากภาวะนี้เราจึงมองเห็นโอกาสที่จะให้ความรู้แก่เจ้าของอาคารพาณิชย์ที่มีกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครได้เห็นช่องทางที่จะรับมือกับภาวะโลกร้อนและฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วยว่าด้วยเงินลงทุนเพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่จะได้รับทันทีคือการลดความร้อนและความประหยัดที่เกิดจากค่าแอร์ อีกทั้งอายุการใช้แอร์ก็ยาวนานขึ้นด้วย” นายประยุทธกล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ วิรัตน์ ตรีรานุรัตน์
Email: [email protected]