นายอรวิทย์ กล่าวว่า การสนทนาในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการประชุมระดมความคิด “ชาวกรุงเทพฯ กับการเดินทางในทศวรรษหน้า” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ รวมทั้งผู้เข้าร่วมงาน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกัน มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของการเดินทางโดยการเชื่อมจุดต่อระหว่างรถไฟ รถไฟฟ้า รถ BRT เรือด่วน ทางจักรยาน ทางเท้าให้สะดวกมากขึ้น, การนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ และการเลือกใช้พลังงานทางเลือก เช่น ไฮบริดจ์ ไฮโดรพาวเวอร์ เป็นต้น
ในงานสนทนานี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.ไมตรี ศรีนราวัฒน์ อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม, ศาสตราจารย์ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมสนทนา เปิดมุมมอง แสดงวิสัยทัศน์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ อาทิ แนวคิดในภาพรวมของการขนส่งยั่งยืน และรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย จากตัวอย่างของประเทศต่างๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับกรุงเทพฯ, วิกฤตการณ์ด้านพลังงาน และการจัดการด้านพลังงานในภาคการขนส่งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อรองรับการขนส่งยั่งยืน และแนวทางการจัดผังเมืองและการวางแผนการใช้ที่ดิน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งของพื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบันและอนาคต เป็นต้น
สำหรับข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้จากการสนทนาในครั้งนี้ นอกจากจะนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาการเดินทางในกทม. และปริมณฑลแล้ว ที่สำคัญคือ จะนำสาระสำคัญมาบรรจุในหนังสือ “ชาวกรุงเทพฯ กับการเดินทางในทศวรรษหน้า” เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางจากรถยนต์ ไปใช้การเดินทางรูปแบบอื่น เพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต