นางกฤตยา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ สำหรับปี 2552 ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 4,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับ เบี้ยประกันภัยรับรวมของปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิ 257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 357 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ที่มีการจัดทำงบเสมือนรวมบริษัทฯ สัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับตรง แยกเป็น รถยนต์ประมาณร้อยละ 45 ประกันภัยทั่วไปร้อยละ 55 ซึ่งประกอบด้วย อัคคีภัยร้อยละ 20 ประกันภัยเบ็ดเตล็ดร้อยละ 17 ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลร้อยละ15 และประกันภัยทางทะเลร้อยละ 3
เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้มีจำนวน 3,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 จำนวน 222 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.5 บริษัทฯมีรายได้จากการลงทุนในหลักทรัพย์ 179.7 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนประมาณร้อยละ 4.3 โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นประมาณ ร้อยละ 21 ตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ร้อยละ 54 และเงินฝากร้อยละ 23 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2552 บริษัทฯ มีฐานเงินกองทุนอยู่ในระดับร้อยละ777ของเกณฑ์ที่คปภ.กำหนด
นางกฤตยา ยังกล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2553 ว่า บริษัทฯ ได้วาง เป้าหมายการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับตรงอยู่ที่ร้อยละ10—15 หรือมากกว่า 4,650 ล้านบาท ซึ่งโตกว่าประมาณการเติบโตของธุรกิจ 2 เท่า ทั้งนี้ ยังเน้นการขยายงานผ่านช่องทาง Bancassurance ทั้งจากพันธมิตรธนาคารเดิมและธนาคารใหม่ ช่องทางตัวแทน และพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เช่น กลุ่มค้าปลีก, ธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจท่องเที่ยว และยังคงสัดส่วนการรับประกันภัยรถยนต์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 45
ทั้งนี้ บริษัทเน้นในการพิจารณารับประกันภัยที่สามารถจัดการการบริหารสินไหมและด้านการปฏิบัติการ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยด้านการรับประกันภัยรถยนต์นั้น บริษัทเน้นให้มีการใช้งานระบบปฏิบัติการ on-line เพื่อให้การรับประกันภัยดำเนินการได้รวดเร็วและรองรับกฎระเบียบใหม่ๆ เช่น CBC ได้มีประสิทธิภาพ และทำให้ลดต้นทุนด้านแรงงานและเวลาได้มาก ทางด้านการรับประกันภัยทั่วไปนั้น บริษัทเน้นขยายการรับประกันภัยในกลุ่มเป้าหมายรายย่อย ซึ่งมีการกระจายความเสี่ยงภัยดี เพื่อให้สามารถเพิ่มกำไรจากการรับประกันภัยได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เป็นการเจาะเฉพาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งแบ่งได้ทั้งอายุ เพศ หรือการใช้ชีวิต (Lifestyle) โดยจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งประกันภัยส่วนบุคคล และประกันภัยทรัพย์สินของผู้ประกอบการรายย่อยเป็นต้น รวมทั้งการขยายธุรกิจประกันภัยตะกาฟูลไปยังพื้นที่ภาคใต้ ผ่านกลุ่มตัวแทนใหม่ๆ
ในปี 2553 บริษัทวางกลยุทธ์การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งการสื่อสารผ่านสื่อเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น การจัดกิจกรรมในพื้นที่ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อตอบรับแนวคิดการสนับสนุน Micro Insurance ของคปภ.และกระทรวงการคลัง นอกจากนี้บริษัทยังลงทุนต่อเนื่องในการขยายศูนย์บริการตามภาคต่างๆ เพิ่มเติม อีก 5 แห่ง รวมเป็น 12 แห่ง เพื่อรองรับการบริการ และงานด้านฝึกอบรมการขาย ซึ่งบริษัทเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ได้รับอนุมัติหลักสูตรการอบรมที่ครบถ้วนจากคปภ. ทั้งการอบรมตัวแทนและนายหน้า
ทั้งนี้บริษัทฯ ยังเน้นการบริหารต้นทุนการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดกระบวนการทำงาน การพัฒนาและปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติม เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะสามารถใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางใหม่ได้ในไตรมาสที่ 2 และจะลงทุนระบบส่วนหน้าเพื่อให้รองรับการขยายตัวของงานจากพันธมิตรต่างๆ นอกจากนี้ ในปีนี้ บริษัทมีแผนการขยายงานผ่านทาง website ด้วย
นางกฤตยา กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า “ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานของบริษัทฯ เกือบๆ 2 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของพนักงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนมีส่วนสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง และวันนี้บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด(มหาชน) เรามีความแข็งแกร่งาสามารถขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 ของธุรกิจ ถือว่าความสำเร็จนี้มาจากพนักงานทุกคน และเราพร้อมจะคืนกลับสู่ลูกค้าของเรา เพื่อให้ทุกคนยิ้มได้ เมื่อภัยมา”